ก.ล.ต.รับลูก “วิรไท” คุมหุ้นกู้เสี่ยง เร่งสรุปเฮียริ่ง-เล็งให้เวลาธุรกิจปรับตัว

ก.ล.ต.จ่อคลอด macroprudential policy ตลาดทุนคุมหุ้นกู้เสี่ยงสูง ปิดช่อง “PP10-HNW” ลงทุนได้เฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน-กรรมการ/ผู้บริหารบริษัทที่ออกหุ้นกู้ได้เท่านั้น เร่งสรุปผลเฮียริ่งเกณฑ์ชงบอร์ดไฟเขียว เล็งให้เวลาเอกชนปรับตัว 3-6 เดือน

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก.ล.ต.จะปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลการออกจำหน่ายตราสารหนี้เอกชนที่มีความเสี่ยงสูงวันที่ 6 พ.ย. จากนั้นจะต้องมาสรุปประเด็นเพื่อพิจารณาว่าต้องปรับปรุงเพิ่มอย่างไรบ้าง โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีกสัก 1-2 เดือน หลังจากนั้นต้องเสนอรายละเอียดให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต.ให้ความเห็นชอบต่อไป อย่างไรก็ดี การบังคับใช้คงไม่ได้มีผลบังคับใช้ทันที แต่อาจจะต้องออกบทเฉพาะกาล เพื่อให้เวลาภาคธุรกิจปรับตัว

ทั้งนี้ เกณฑ์ใหม่นี้ ถือว่าเป็นมาตรการ macroprudential policy ครั้งแรกในตลาดทุน เนื่องจาก ก.ล.ต.ไม่ต้องการให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดความเสี่ยงเชิงระบบต่อตลาดทุนได้

โดยตราสารหนี้เอกชนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะปรับปรุงเกณฑ์นั้น ได้แก่ ตราสารหนี้ที่เครดิตต่ำกว่า BBB (noninvestment grade) และตราสารหนี้ที่ไม่มีเรตติ้ง (nonrated) ซึ่งในการรับฟังความเห็น ก.ล.ต.ได้เพิ่มกลไกกำกับดูแลให้เข้มขึ้น จากปัจจุบันที่อนุญาตให้กลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนวงจำกัดไม่เกิน 10 คน (PP10) และผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) ลงทุนได้ แต่เกณฑ์ใหม่จะให้เฉพาะผู้ลงทุนสถาบันและกรรมการ/ผู้บริหารบริษัทที่ออกหุ้นกู้เท่านั้นที่สามารถลงทุนได้

“เราดูตามสถิติ ตราสารหนี้เสี่ยงคิดเป็นประมาณ 6% ของตราสารหนี้ทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านบาท ถือว่าค่อนข้างมากที่ไปสู่มือ HNW และ PP10 ดังนั้น สิ่งที่รับฟังความเห็นจะไปอุดช่อง PP10 ให้ขายได้เฉพาะสถาบันกับกรรมการ/ผู้บริหารบริษัทที่ออกหุ้นกู้เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีโอกาสที่ตราสารหนี้เสี่ยงจะถึงมือผู้ลงทุนทั่วไปอย่าง HNW แล้ว ทั้งนี้ การออกเกณฑ์ก็คงจะต้องมีการลดผลกระทบ (soft landing) ก่อน สัก 3-6 เดือน” นางสาวจอมขวัญกล่าว

ขณะเดียวกันหากเป็นตราสารหนี้ปกติทั่วไปที่จะขาย HNW จะมีเกณฑ์กำกับดูแลการขาย (sell conduct) ที่เข้าไปคุมเข้มการทำดิวดิลิเจนซ์ของโบรกเกอร์และธนาคารผู้จำหน่าย หรือติดต่อผู้ลงทุน รวมถึงมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ด้วย ซึ่งหากเกิดปัญหาขึ้น ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะต้องเข้าไปทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งจะถือเป็นการยกระดับระบบนิเวศ (ecosystem) ในการเสนอขายตราสารหนี้ให้แข็งแกร่งขึ้นทุกจุด

นางสาวจอมขวัญกล่าวว่า เกณฑ์ใหม่จะเป็นการป้องกันนักลงทุน (protection investment) แต่อาจจะทำให้ภาพรวมภาคธุรกิจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง เนื่องจากแต่ละบริษัทจะต้องมี 1.ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่ได้รับความเห็นชอบ 2.การเปิดเผยข้อมูลสำคัญทางการเงิน 3.ผู้จำหน่ายต้องมีใบอนุญาต

“ผู้ที่จะนำของไปขายจะต้องทำดิวดิลิเจนซ์ ต้องเลือกแล้วว่าของที่นำไปขายวิเคราะห์แล้วว่าดี ขณะเดียวกันตอนขายให้ลูกค้า sell conduct จะบอกว่าทางฝั่งต้นน้ำให้ผู้ออก (issuer) เปิดเผยอัตราส่วนทางการเงิน คือต้องมีการให้ข้อมูลเรื่องเหล่านี้กับผู้ลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุนด้วย โดยเท่าที่ฟังความเห็นมา อาจจะมีประเด็นที่ว่า issuer อาจจะทำงานยากขึ้น แทนที่ขาย HNW ได้ง่าย ๆ สำหรับ PP10 ก็ขายไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.มีหน้าที่ปกป้องผู้ลงทุน” นางสาวจอมขวัญกล่าว

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนาเครือข่ายบุคลากรด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ประจำปี 2562 หัวข้อ “ถอดรหัสปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เร่งแก้อย่างไรให้คนไทยอยู่ดีอย่างยั่งยืน” ว่า ปัจจุบันระบบการเงินโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยหลายประเทศเริ่มพูดกันว่า อาจจะต้องคิดกันมากขึ้น เรื่อง macroprudential policy สำหรับตลาดพันธบัตร โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง หุ้นกู้ที่ไม่มีเรตติ้ง ซึ่งจะเป็นเรื่องใหม่ เพราะเกณฑ์การกำกับดูแลของตลาดที่ผ่านมา ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้มากนัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 62) พบว่า มีหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูงผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด 5 ตราสาร มูลค่ารวม 1,712 ล้านบาท จาก 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท พี-มาร์ท ซุปเปอร์ สโตร์ (PMART) บริษัท โอพีจีเทค (OPGT) บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (IWIND) และ บมจ.พีพี ไพร์ม (PPPM) โดยล่าสุด เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีหุ้นกู้ของ บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) มูลค่า 1,219 ล้านบาท แจ้งผิดนัดชำระ ซึ่งเป็นหุ้นกู้ประเภทไม่มีเรตติ้ง