แบงก์จัดโปรกู้บ้านไม่หวือหวา ชั่งใจแข่งดอกเบี้ยต่ำหวั่นขาดทุน

แบงก์จัดโปรฯสินเชื่อบ้านรับมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองไม่หวือหวา “ธนชาต” ใจเด็ดให้ดอกเบี้ย 2.5% แข่ง ธอส. เฉพาะ 4 โครงการบ้านเดี่ยวของ “พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค” ฟากออมสินชูสินเชื่อเคหะ ดอกเบี้ย 2.9% นาน 3 ปี “ซีไอเอ็มบี ไทย” ให้กู้ 2.79% สำหรับลูกค้าเครดิตดี ด้านเอ็มดี ธอส.เชื่อแบงก์ส่วนใหญ่กลัวขาดทุนไม่กล้าจัดโปรฯดอกเบี้ยต่ำ ฟากศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้แบงก์ยังระวังปล่อยกู้คุมคุณภาพสินเชื่อ

หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับการซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ในช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ ซึ่งต้องโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 24 ธ.ค. 62 นั้น ล่าสุด เริ่มมีบางสถาบันการเงินที่จัดโปรโมชั่นสินเชื่อรับมาตรการดังกล่าว หลังจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่มีโปรฯดอกเบี้ยคงที่ 2.5% ช่วง 3 ปีแรก วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 1,200 ล้านบาท

นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจขนาดเล็ก ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ปลายปีนี้ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค พันธมิตรของธนาคารได้ออกแคมเปญ “House & Condo of The Year 2019” ซึ่งธนชาตมีโปรฯสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ 2.5% ต่อปี นาน 3 ปี พร้อมข้อเสนอให้ผ่อนต่ำแค่ล้านละ 3,000 บาท และวงเงินกู้สูงสุดถึง 100% สำหรับลูกค้าที่ซื้อและรับโอนบ้านในโครงการบ้านเดี่ยว 4 แบรนด์ ได้แก่ เพอร์เฟค พาร์ค, เพอร์เฟค เพลส, เพอร์เฟค เรสซิเดนซ์ และเพอร์เฟค มาสเตอร์พีซ ภายใน 30 ธ.ค. 62

“ความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยขยายฐานลูกค้าให้กับธนาคาร และเพิ่มยอดสินเชื่อบ้านในไตรมาสสุดท้ายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมทั้งต่อยอดให้ลูกค้าใช้ธนชาตเป็นธนาคารหลัก”

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารเพิ่งออกสินเชื่อเคหะประชารัฐสร้างไทยไปเมื่อต้นเดือน ต.ค. โดยมีวงเงินรวม 2.5 หมื่นล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว คือ ดอกเบี้ยคงที่ 2.9% นาน 3 ปีแรก ดังนั้นช่วงนี้จึงไม่ได้มีแคมเปญพิเศษเพิ่มเติม

“คิดว่าเป็นดอกเบี้ยพิเศษในช่วงนี้แล้ว ซึ่งตั้งเป้าหมายวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้า” นายชาติชายกล่าว

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้อำนวยการอาวุโสผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารเน้นลูกค้าที่มีเครดิตดี และมีวินัยในการผ่อนชำระเงินดาวน์ให้สามารถเป็นเจ้าของบ้าน โดยโปรโมชั่นที่ดีที่สุด ตอนนี้ของสินเชื่อบ้านใหม่ ได้แก่ โปรแกรมดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก 2.79% สำหรับพนักงานประจำที่มีรายได้ 5 หมื่นบาทขี้นไป ฟรีค่าประเมินราคาหลักทรัพย์สำหรับซื้อบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธ.ค. 62

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามแบงก์ขนาดใหญ่ อาทิ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ต่างก็แจ้งว่า ยังไม่มีโปรฯออกมารับมาตรการดังกล่าวในช่วงนี้

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า มาตรการลดค่าโอน กับค่าจดจำนอง คงมีส่วนช่วยคนที่กำลังตัดสินใจจะซื้อบ้านอยู่แล้ว ให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เพราะมาตรการมาช่วยลดภาระ แต่ไม่น่าจะมีผลกับผู้ที่ยังลังเลว่าจะซื้อบ้านช่วงนี้หรือไม่ ขณะที่การแข่งขันปล่อยสินเชื่อบ้านของแบงก์ก็เช่นกัน มาตรการที่ออกมา คงไม่ใช่ตัวหลักที่จะกระตุ้นให้แบงก์แข่งขันกันทำแคมเปญ ซึ่งแบงก์ก็คงปล่อยกู้อย่างรัดกุม คำนึงถึงคุณภาพของลูกหนี้ด้วยในภาวะที่ตัวเลขต่าง ๆ ออกมาไม่ค่อยดี

ทั้งนี้ คาดว่าถึงสิ้นปีนี้ สินเชื่อบ้านทั้งระบบน่าจะเติบโตได้ราว 4% ชะลอลงจากกลางปีที่เคยโตได้ถึง 8% จากมาตรการคุมสินเชื่อบ้าน (LTV) อย่างไรก็ดี ถือว่ายังโตได้มากกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่โตไม่ถึง 3%

“ถ้าเป็นจังหวะที่สถาบันการเงินจะทำการตลาด ก็คงหยิบประเด็นลดค่าโอน ค่าจดจำนองนี้ขึ้นมาชักจูงให้ลูกค้าที่มีศักยภาพได้พิจารณาด้วย เป็นปัจจัยบวกอีกอัน แต่โดยลำพังตัวมาตรการไม่ได้ทำให้มีการแข่งขันอย่างหวือหวา ซึ่งมาตรการนี้มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเป็นเพดานอยู่ด้วย ก็ได้เฉพาะบางเซ็กเมนต์ แต่มีข่าวดีก็ดีกว่าไม่มีเลย โดยยอดขายบ้านก็คงจะดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ถึงกับเปลี่ยนภาพแนวโน้มของตลาดให้กลับมาเป็นบวกมากนัก”

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า ดอกเบี้ยกู้บ้านที่ 2.5% นาน 3 ปีแรก ถือว่าต่ำมาก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่สถาบันการเงินต่าง ๆ จะทำโปรฯพิเศษด้วยการลดดอกเบี้ยลงมาระดับนี้ เนื่องจากจะมีผลต่อสถานะทางการเงิน ส่วนสินเชื่อของ ธอส. ที่ตั้งกรอบวงเงินไว้ 5 หมื่นล้านบาท คาดว่าภายในเดือน ธ.ค.นี้จะมียอดยื่นกู้ถึง 3 หมื่นล้านบาท

“เชื่อว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะต้องมีการปรับลดราคาที่อยู่อาศัย 5-10% เพื่อให้อยู่ในกรอบวงเงิน 3 ล้านบาท เพื่อทำเป้าในไตรมาส 4 นี้ด้วย” นายฉัตรชัยกล่าว

อย่างไรก็ดี สำหรับกรอบวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเต็มในเดือน ม.ค. 2563 ส่วนการปล่อยสินเชื่อของ ธอส.ทั้งปี 2562 นี้น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 2.03 แสนล้านบาท และน่าจะมีกำไรอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท ส่วนปี 2563 ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 2.09 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปีนี้ และคาดการณ์กำไรที่ 1,300 ล้านบาท