ปี’63 รีแบรนดิ้งสรรพากรทั่วประเทศ งัด “Data” ต้อนกลุ่มนอกระบบเข้าฐานภาษี

“ปีนี้ (ปีงบประมาณ 2563) เป้าหมายจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรค่อนข้างท้าทาย คือ 2.1165 ล้านล้านบาท ซึ่งสรรพากรเป็นกรมใหญ่ หน้าที่เราในฐานะผู้ปฏิบัติก็ต้องพยายามทำให้ได้ โดยใช้เรื่องฐานข้อมูล ระบบการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) การสร้างความเป็นธรรม ทำให้คนที่ยังอยู่นอกระบบมาอยู่ในระบบ” นี่เป็นคำกล่าวที่ “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากร ประกาศในการจัดประชุม/สัมมนาผู้บริหารกรมสรรพากรทั่วราชอาณาจักร ประจำปีงบประมาณ 2563 เมื่อวันที่ 4-5 พ.ย.ที่ผ่านมา

โดย “เอกนิติ” บอกว่า ปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมา กรมสามารถจัดเก็บรายได้เกินเป้าครั้งแรกในรอบ 7-8 ปี ซึ่งมาจากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (digital transformation) ของกรม ที่มีการใช้ data analytics และวางกลยุทธ์ด้านข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภายนอก เช่น กระทรวงพาณิชย์ ข้อมูลประกันสุขภาพ เป็นต้น ทำให้สามารถดึงคนเข้ามาอยู่ในฐานภาษีได้มากขึ้น จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีการยื่นแบบภาษีทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มเป็น 11.7 ล้านราย จากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 10 ล้านราย

“ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเกือบ 10% ในปีเดียว แต่ก็ยังมีคนอีกมากที่ยังไม่เข้า ซึ่งตอนนี้มีคนมีรายได้ถึงขั้นยื่นแบบ 14 ล้านคน ดังนั้น เราก็มีเป้าที่จะทำให้คนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์เข้ามาอยู่ในระบบ ถ้ากรมไม่ทำก็จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ คนก็จะบอกว่าอยู่นอกระบบดีกว่า

ดังนั้น ปีนี้กรมจะเดินหน้าเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภายนอกเพิ่มเติม อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะนำระบบที่พัฒนาโดยสตาร์ตอัพตามที่กรมได้จัดแข่งขันเรื่องการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ด้านภาษี (#HACKATAX) ขึ้น ซึ่งจะนำระบบที่ชนะการประกวดมาใช้จริง เพื่อให้มีบริการที่ง่ายขึ้น “ถูกใจ” ประชาชนผู้เสียภาษีมากยิ่งขึ้น

ส่วนมาตรการภาษีสำหรับกองทุนใหม่ที่จะมาแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) นั้น กรมได้ศึกษาแล้ว แต่ต้องเสนอคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษีชุดที่ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานก่อน ซึ่งผลการศึกษาของกรมเป็นไปในทิศทางเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พบว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จาก LTF ส่วนใหญ่เป็นคนระดับบนถึง 60-70% ซึ่งกรมมั่นใจว่าโมเดลที่ศึกษาน่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่าเดิม

รวมถึงผลศึกษาปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ที่ต้องเสนอคณะกรรมการปฏิรูปฯก่อนเช่นกัน

ปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีรายได้มากกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี มีจำนวนอยู่แค่ 0.46% ของนิติบุคคลทั้งหมด 4.6 แสนราย หรือมีแค่ราว 2,000 รายเท่านั้น แต่กลุ่มนี้จะเสียภาษีอยู่เป็นสัดส่วนถึง 64% หรือ 2.42 แสนล้านบาท ขณะที่รายกลางที่มีรายได้ตั้งแต่ 500-2,000 ล้านบาทต่อปี มีอยู่ 5,900 ราย หรือประมาณ 1% เสียภาษีอยู่ 5.5 หมื่นล้านบาท หรือ 15%

“นิติบุคคลปัจจุบันมีจดทะเบียนอยู่ราว 6 แสนราย แต่อยู่ในฐานภาษีแค่ 4.6 แสนราย ซึ่งเราก็ไม่ได้ต้องการไปขูดรีด แต่ต้องการให้เข้าสู่ระบบมากขึ้น”

“เอกนิติ” บอกว่า กรมมีเป้าหมายจะดึงผู้ที่ยังอยู่นอกระบบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่ากรมจะรีบเข้าไปเก็บภาษี เพียงแต่ต้องการให้ทำระบบภาษีอย่างถูกต้อง เพื่อจะได้ทำธุรกิจได้อย่างสบายใจ

“คนที่ยังอยู่นอกระบบ 3-4 ล้านราย มีทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ คือ คนที่ทำธุรกิจแล้วยังไม่รายงาน เรามีฐานข้อมูลที่มากขึ้น นอกจากนี้ก็มีบุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากการรับจ้างทำของ แต่ย้ำว่าเราไม่ได้ดึงข้อมูลจากมาตรการชิม ช้อป ใช้ แต่เรามีข้อมูลที่มากพออยู่แล้วที่จะจัดการคนที่โกงที่อยู่นอกระบบได้”

ที่สำคัญ ปีนี้กรมสรรพากรจะ “รีแบรนดิ้ง” เพื่อให้ผู้เสียภาษีรู้สึกถึงความเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น โดยจะปรับสำนักงานสาขาสรรพากรให้ทันสมัย ซึ่งแต่ละสาขาจะมีเจ้าหน้าที่ให้บริการเหมือนเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ ที่จะเปลี่ยนจาก “ยักษ์” เป็น “ยิ้ม”

พร้อมกับยกระดับการทำงานของกรมครั้งใหญ่ให้เป็นองค์กรที่คล่องตัวรวดเร็ว (agile organization) ทั้งยังให้ความสำคัญการจัดกลุ่มผู้เสียภาษี โดยร้านค้าหรือกิจการที่มีการใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าชั้นดี ซึ่งจะได้รับบริการต่าง ๆ ที่รวดเร็วขึ้น ส่วนกลุ่มที่ใช้จ่ายแต่เงินสดจะเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่กรมต้องตรวจสอบมากขึ้น

“หวังว่าปีนี้เราจะทำได้ดียิ่งขึ้น 1.ตรงเป้า คือ จัดเก็บภาษีได้ตรงเป้า 2.ตรงกลุ่ม ดึงคนนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ และ 3.บริการให้ตรงใจมากขึ้น”

เรียกได้ว่า งัดทั้ง “ไม้แข็ง” และ “ไม้อ่อน” มาต้อนคนที่ยังอยู่นอกระบบ ให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีนั่นเอง