เปิดอกผู้บริหาร MUFG ดัน “กรุงศรี” ขึ้นแท่นแบงก์ใหญ่

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ยกทัพสื่อมวลชนไปสัมผัสประสบการณ์ “เรื่องญี่ปุ่น ต้องกรุงศรี” ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ช่วงวันที่ 28-31 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา

ซึ่งนอกจากจะเป็นทริปเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์การใช้จ่ายต่างแดนผ่านคิวอาร์โค้ดบนแอปพลิเคชั่น “KMA” โมบายแบงกิ้งของธนาคารกรุงศรีที่แสนสะดวกสบายแล้ว ในการเดินทางครั้งนี้ สิ่งที่พลาดไม่ได้ก็คือ การเข้าเยี่ยมชมที่ทำการของกลุ่มการเงิน “Mitsubishi UFJ Financial Group Inc.” หรือ MUFG บริษัทแม่ของแบงก์กรุงศรี

“ชิโระ ฮอนโจ” ผู้บริหารระดับสูงและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวางแผนธุรกิจขนาดใหญ่ระดับโกลบอล MUFG ได้มาฉายภาพการดำเนินธุรกิจของ MUFG และทิศทางการเติบโตต่อไปในอนาคตให้ได้ทราบกัน

เขาบอกว่า MUFG มีแผนที่จะขยายธุรกิจไปในภูมิภาคอเมริกาและอาเซียนเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากทั้ง 2 ภูมิภาคยังมีโอกาสเติบโตสูง จากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ค่าเฉลี่ยอายุของประชากรในภูมิภาคค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยอายุของประชากรญี่ปุ่นที่สูงถึง 50 ปี และการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ค่อนข้างสูงเช่นกันเมื่อเทียบกับจีดีพีประเทศญี่ปุ่นที่เติบโตเพียง 0.3-0.4% เท่านั้น

ทั้งนี้ เนื่องจากธุรกิจการเงินในประเทศญี่ปุ่นเริ่มถึงจุดอิ่มตัว โดยการเติบโตของสินเชื่อในญี่ปุ่นชะลอตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 สาเหตุมาจากภาคธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยกู้เงินและไม่ค่อยลงทุน ส่งผลให้ยอดเงินกู้ในประเทศไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังอยู่ที่ระดับ 0% ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 0.81% ในปัจจุบัน และส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ (สเปรด) ลดลงต่อเนื่องเช่นกันมาอยู่ที่ 0.80% นอกจากนี้ กำไรจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปล่อยให้ลูกค้าขนาดใหญ่และลูกค้าเอสเอ็มอีในประเทศ ยังปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.42% และ 0.56% ตามลำดับ ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ในประเทศญี่ปุ่นจึงทำธุรกิจแทบจะไม่ได้กำไร

“แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมของสินเชื่อในต่างประเทศ พบว่าทั้งยอดเงินกู้ มาร์จิ้น และสเปรด ยังสามารถขยายตัวขึ้นได้สูงกว่าในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการออกไปลงทุนหรือขยายธุรกิจผ่านธนาคารต่างประเทศ ส่งผลให้ MUFG สามารถสร้างผลกำไรได้ดี โดยสัดส่วนกว่า 40% ของกำไรรวมทั้งหมดเป็นกำไรที่มาจากต่างประเทศ แบ่งเป็นภูมิภาคอเมริกาประมาณ 50% และอีกประมาณ 40% มาจากภูมิภาคเอเชีย ซึ่ง MUFG ตั้งเป้าขยายสัดส่วนกำไรจากต่างประเทศให้ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 65% ภายในปี 2562” นายชิโระกล่าว

ทั้งนี้ นอกจากการถือหุ้นใหญ่ในธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเทศไทยแล้ว ปัจจุบัน MUFG ได้เข้าร่วมทุนในธนาคารต่างประเทศ ได้แก่ MUFG Americas Holdings Corporation (MUAH) ประเทศอเมริกา, Bank Danamon ประเทศอินโดนีเซีย, VietinBank ประเทศเวียดนาม และ Security Bank ประเทศฟิลิปปินส์

“MUAH ในอเมริกา และ BAY ในไทย เป็นตัวสร้างผลกำไรหลักแก่ MUFG โดยสำหรับ BAY มียอดการปล่อยเงินกู้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น ๆ ที่เราไปลงทุน แต่ยอดหนี้เสีย (NPL) ลดลง แสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการดูแลความเสี่ยงที่ทำได้เป็นอย่างดี โดยในระยะข้างหน้าเรามีแผนสร้างความร่วมมือกับ BAY เพิ่มมากขึ้นผ่านการจับคู่ทางธุรกิจ (business matching) เพื่อแนะนำลูกค้าให้แก่ธนาคารต่อไป” นายชิโระกล่าว

เขาบอกด้วยว่า ตนอยากเห็น BAY ขึ้นมาเป็นธนาคารอันดับหนึ่งในประเทศไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะตั้งเป้าและต้องรีบไปถึงเป้าหมายนั้นให้ได้ สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนก็คือ การสร้างค่านิยมในองค์กร BAY ให้เป็นรูปแบบเดียวกันก่อน และจากนั้นจึงจะค่อย ๆ ไต่เต้าจากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 5 ก็ขยับขึ้นไปเป็นอันดับ 4

และท้ายที่สุดก็หวังว่า BAY จะสามารถขึ้นเป็นธนาคารที่ได้รับความไว้วางใจที่สุดในประเทศไทยและในเอเชียต่อไป