แบงก์พาเหรดหั่นดอกเบี้ยกู้ “รายใหญ่-เอสเอ็มอี” รับอานิสงส์ลดภาระ 1.8 หมื่นล้านบาท

แบงก์พาเหรดหั่นดอกเบี้ยรับลูก กนง.อุ้มลูกค้าลดต้นทุนธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจขาลง “ไทยพาณิชย์-ออมสิน” นำร่องลดดอกเบี้ย 2 ขา “ชาติศิริ” ชี้แบงก์กรุงเทพยอมกระทบ NIM ลด ดบ.กู้ MLR ช่วยลูกค้าธุรกิจก่อนพิจารณาลดดอกฝากทีหลัง “กสิกรฯ” ลดดอกเบี้ยเงินฝากเฉพาะลูกค้านิติบุคคล 0.07-0.25% ตรึงดอกฝากรายย่อย “กรุงไทย” ลดดอกเบี้ยฝากประจำยกเว้นรายย่อย ฟากศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบีประเมินช่วยลดภาระลูกค้า “รายใหญ่-เอสเอ็มอี” กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท

หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% สถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ตอบรับการส่งผ่านนโยบาย เริ่มจากธนาคารไทยพาณิชย์ ที่นำร่องประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.25% มีผลตั้งแต่ 8 พ.ย. 62 และธนาคารออมสินปรับดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลง 0.125% มีผลตั้งแต่ 11 พ.ย. 62 ส่วนเงินฝาก ปรับลดเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.125% ให้มีผล 1 ม.ค. 63 เป็นต้นไป

ล่าสุด นายชาติศิริ โสภณพณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพได้สนองนโยบายรัฐ โดยปรับลดดอกเบี้ยกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ (MLR) ลง 0.25% มีผลตั้งแต่ 11 พ.ย. 62 เพื่อให้ภาคธุรกิจดำเนินงานได้อย่างราบรื่น และเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างดี ซึ่งแม้การลดดอกเบี้ยกู้ขาเดียวจะกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของแบงก์ แต่ธนาคารยอมรับผลกระทบดังกล่าวได้ เพื่อช่วยลูกค้า ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังการปรับลดดอกเบี้ยลง น่าจะเป็นตัวช่วยเหลือต้นทุนแก่ผู้ประกอบการ และธนาคารสามารถรับมือกับหนี้เสีย (NPL) ได้ ซึ่งการจัดการบริหารหนี้เสีย ธนาคารไม่มีนโยบายตัดขายหนี้เสียทิ้ง ส่วนดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาในลำดับถัดไป

“ผลกระทบต่อ NIM ทำให้ผลดำเนินงานเราลดลง แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะลูกค้าขยับได้ ก็มีความหมายที่สำคัญกับเรา โดยดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อย ก็คงพิจารณาขั้นต่อไป ตอนนี้ลด MLR ช่วยรายใหญ่ก่อน ทั้งนี้ การที่ธนาคารปรับลดดอกเบี้ยกู้ก่อน ยังไม่ลดดอกเบี้ยเงินฝากทันที เพราะเราก็ระมัดระวังไม่อยากให้กระทบกับผู้ฝากของเราเท่าไหร่นัก และสภาพคล่องของแบงก์ก็ยังดี ไม่มีปัญหา” นายชาติศิริกล่าว

ส่วนภาพรวมของเศรษฐกิจในปี 2563 นายชาติศิริกล่าวว่า น่าจะเติบโตกว่าปีนี้ด้วยผลจากโครงการ ๆ ที่รัฐบาลดำเนินการมาต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของธนาคารกรุงเทพกำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการวางเป้าหมายทางการเงินของปีถัดไป และจะประกาศให้ทราบต่อไป

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารตอบสนองต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยเพื่อช่วยลูกค้าของธนาคารในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง 0.25% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่กลุ่มลูกค้าของธนาคารใช้เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับลูกค้านิติบุคคลลง 0.07-0.25% ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่ 11 พ.ย. 62 โดยธนาคารยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาในขณะนี้

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า EXIM BANK ปรับลดอัตราดอกเบี้ย prime rate ซึ่งเทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR 0.125% เหลือ 6.00% ต่อปี มีผลตั้งแต่ 11 พ.ย. 62

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ธนาคารตระหนักถึงการมีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ อีกทั้งช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของภาวะความผันผวนของค่าเงินและสงครามการค้า พร้อมทั้งตอบสนองทิศทางดอกเบี้ย ธนาคารจึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบมีระยะเวลา MLR ลง 0.25% ต่อปี จากอัตรา 6.275% ต่อปี เหลืออัตรา 6.025% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่ 11 พ.ย. 62 เป็นต้นไป

“ธนาคารหวังว่า การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงิน มีส่วนสนับสนุนศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ตลอดจนร่วมผลักดันเศรษฐกิจไทยโดยรวม” นายผยงกล่าว
นอกจากนี้ นายผยง กล่าวอีกว่า ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.25% ต่อปี ยกเว้นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้ารายย่อย

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การลดดอกเบี้ยของแบงก์ต่าง ๆ รอบนี้ ส่วนใหญ่เป็นการลดดอกเบี้ย MLR ที่ลูกค้ารายใหญ่ได้ประโยชน์เป็นหลัก ซึ่งภาระจะลดลงราว 9,650 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีภาระดอกเบี้ยจะลดไปราว 8,500 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากกลุ่มเอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์ มีสัดส่วนแค่ราว 26% ของสินเชื่อเอสเอ็มอีในภาพรวม เพราะเอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะใช้ดอกเบี้ย MRR มากกว่า ส่วนฝั่งดอกเบี้ยเงินฝาก ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจาก 60% ของเงินฝากทั้งระบบเป็นบัญชีออมทรัพย์