แบงก์ชาติสู้ศึก “บาทแข็ง” โจทย์ยากท่ามกลาง ศก.ชะลอตัว

วิรไท สันติประภพ

ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจขาลง มองไปข้างหน้าเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอน การบริหารนโยบายการเงินช่วงนี้จึงเป็น “โจทย์ยาก” ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แม้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุด เมื่อ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จาก 1.50% เป็น 1.25% ต่อปี เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ดำดิ่งลงกว่านี้

ขณะที่แนวโน้ม “ค่าเงินบาท” ที่แข็งค่าต่อเนื่องเป็นปัญหาที่ท้าทาย โดยนอกจากลดดอกเบี้ยสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปีแล้ว “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. ยังได้ “ปรับเกณฑ์เอื้อเงินทุนไหลออกและลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท” ด้วย ส่งสัญญาณ “การต่อสู้” กับการแข็งค่าของเงินบาทชัดเจนมากขึ้น

“วิรไท” บอกว่า ได้ปรับเกณฑ์ 4 ด้าน เพื่อสนับสนุนให้เงินทุนไหลออก ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท รวมทั้งช่วยให้การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศสะดวกมากขึ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 8 พ.ย. 62 เป็นต้นไป

ประกอบด้วย 1.อนุญาตให้ผู้ส่งออกที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อใบขน ฝากเงินไว้ในต่างประเทศโดยไม่จำกัดระยะเวลา, หากผู้ส่งออกมีรายได้สูงกว่านี้ก็สามารถนำไปหักกลบกับรายจ่ายในต่างประเทศได้ ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศ

2.เปิดเสรีให้นักลงทุนรายย่อยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เอง ในวงเงิน 200,000 ดอลลาร์ต่อปี จากเดิมต้องผ่านตัวกลางในประเทศ และเพิ่มวงเงินรวมสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ภายใต้กำกับของสำนักงาน ก.ล.ต. เป็น 150,000 ล้านดอลลาร์

3.เปิดเสรีโอนเงินออกนอกประเทศได้ทุกวัตถุประสงค์ ยกเว้น negative list พร้อมอนุญาตให้โอนเงินให้ญาติที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ สำหรับซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยซื้อในชื่อบุคคลในครอบครัวได้ ส่วนประชาชนหรือภาคธุรกิจที่ต้องการโอนเงินออกนอกประเทศต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์ต่อครั้ง ไม่ต้องยื่นหลักฐาน

4.อนุญาตให้คนไทยที่ลงทุนซื้อขายทองคำกับบริษัทผู้ค้าทองคำที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ชำระราคาในรูปเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชี FCD ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศได้ ลูกค้าสามารถเก็บเงินตราต่างประเทศจากการขายทองคำไว้ในบัญชี FCD ไม่ต้องแลกเป็นบาทเพื่อรอลงทุนครั้งต่อไป

ระยะสั้นไม่ช่วยให้เงินไหลออก

หลายฝ่ายมองว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาช่วยให้เงินไหลออก หรือลดแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทได้ในระยะสั้น

“จิติพล พฤกษาเมธานันท์” หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดทุน สายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า มาตรการไม่ได้มีผลต่อตลาดมาก เนื่องจากการจะให้คนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ ต้องอาศัยหลายปัจจัย เช่น หุ้นต่างประเทศต้องดี เงินบาทแข็งค่ากว่านี้ เป็นต้น ส่วนมาตรการเกี่ยวกับทองคำจะช่วยได้มากที่สุด

“การผ่อนปรนให้เงินทุนไหลออกไม่ใช่เรื่องใหม่ และมักส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าระยะสั้นเท่านั้น ในอดีตพบว่าเงินบาทอ่อนค่าเฉลี่ย 0.01% ในช่วง 1 เดือน หลังประกาศนโยบาย ดังนั้น ระยะสั้นคงไม่ได้ผลที่จะให้คนออกไปลงทุน แต่ระยะยาวถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก คนก็คงจะอยากออกไปลงทุนกันมากขึ้น”

เลือกตั้งสหรัฐกดดัน “บาทแข็ง”

“จิติพล” มองว่าปี 2563 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งนโยบายหาเสียงส่วนใหญ่จะไปในทางที่เงินดอลลาร์อ่อนค่ามากกว่าแข็งค่า โดยช่วงไตรมาส 1 และ 4 ต้องระวังการแข็งค่าของเงินบาทมากที่สุด

“เราคงเป้าหมายค่าเงินบาทปลายปีนี้ 30.25 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนปีหน้าจะอยู่ช่วง 28.70-30.50 บาทต่อดอลลาร์”

ขณะที่ “ยรรยง ไทยเจริญ” รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) วิเคราะห์ว่า มาตรการเรื่องค่าเงินของ ธปท. เป็นการส่งสัญญาณเปลี่ยนระบบกำกับ (regime) ต่างจากกรอบเดิม ๆ น่าจะส่งผลดีในระยะยาว ทำให้ในอนาคต ธปท.ไม่ต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินมาก แต่ระยะใกล้ไม่ได้ทำให้เงินไหลออกทันที ต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนความคิดคนไทยให้ออกไปลงทุนต่างประเทศ

“มาตรการที่ออกมาเป็น regime shift ของ ธปท. คือส่งสัญญาณว่าจะต้องเริ่มปล่อยให้ทุกคนบริหารจัดการเองแล้ว”

อีไอซีมองว่าค่าเงินบาทปีนี้ถึงปีหน้า ยังอยู่ในกรอบ 30-31 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่ายังแข็งค่า หลังจากนี้ หากเงินบาทยังแข็งค่าขึ้น ธปท.ก็ต้องงัดมาตรการดูแลเพิ่ม แต่อาจไม่ใช่เพิ่มกฎเกณฑ์ แต่อาจเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ ปรับวิธีคิด และ ให้ความรู้ด้านการลงทุน

5 ปี บาทแข็งกว่าคู่แข่ง 23%

“ยรรยง” กล่าวว่า ปีนี้ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีมาถึงปัจจุบัน แข็งค่าขึ้น 7% แต่หากมองย้อนไป 5 ปี พบว่าแข็งค่าขึ้นถึง 23% เมื่อเทียบกับคู่ค้า คู่แข่ง กระทบกับความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะสินค้าที่กำไรต่ำ ๆ สินค้าที่แข่งกันด้วยราคา สินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น สินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศมาก เช่น สินค้าเกษตร เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ ช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นปีละ 3-4% และเศรษฐกิจโลกกับเศรษฐกิจในประเทศยังเติบโตได้ดี แต่ตอนนี้ตัวเลขทุกอย่างเริ่มเป็นลบ หากปล่อยเงินบาทแข็งค่าด้วยจะยิ่งทวีความรุนแรง ผลกระทบจะยาวนานขึ้น ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 18,000 ล้านเหรียญ แสดงว่า ธปท.เข้าดูแลต่อเนื่อง

“ผมเชื่อว่า ธปท.ดูแลอย่างใกล้ชิดมาก ๆ ใช้ทุกเครื่องมือ ตั้งแต่ต้นปีมา ดูแลต่อเนื่อง แต่เงินบาทยังแข็งต่อ จึงต้องมีมาตรการออกมาเพิ่ม และทำพร้อมกับลดดอกเบี้ยด้วย  เพื่อให้มีอิมแพ็กต์มากขึ้น” นายยรรยงกล่าว


ต้องจับตาดูว่า แรงกดดันเงินบาทที่อาจแข็งค่าต่อเนื่องจนถึงปีหน้า ธปท.จะงัดอาวุธอะไรมาสู้อีก