เงินบาทอ่อน​ค่า​ที่​ 30.38 บ./ดอลลาร์​ สัปดาห์​นี้​จับตาเจรจา​การค้า-ตัวเลข​ศก.​ประเทศ​ขนาดใหญ่

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้า​นักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า​ ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (11​ พ.ย.)​ “อ่อนค่า” มาที่ระดับ 30.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.36 บาทต่อดอลลาร์​สหรัฐ ทั้งนี้​ กรอบเงินบาทวันนี้อยู่​ระหว่าง​ 30.35-30.45 บาทต่อดอลลาร์​สหรัฐ ขณะที่​กรอบเงินบาทรายสัปดาห์อยู่​ที่​ 30.20 – 30.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​

ทั้งนี้​ ประเมินว่าประเด็นที่ตลาดจะให้ความสำคัญในสัปดาห์นี้​ (11-15​ พ.ย.)​ คือทิศทางของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนกับตัวเลขเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลก

โดย​สังเกตได้จากตลาดหุ้นแทบทุกที่ของโลกปรับตัวขึ้นทันทีที่มีข่าวว่าการเจรจาการค้ามีโอกาสเกิดขึ้น และปรับตัวลงทันทีที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี​สหรัฐอเมริกา​ให้สัมภาษณ์ว่าไม่ได้มีความตั้งใจที่จะยกเลิกภาษีทั้งหมดกับจีน

ขณะเดียวกัน ในวันจันทร์​ (11​ พ.ย.)​ ก็จะมีการรายงานตัวเลขการขยายความ​ของเศรษฐ​กิจ​ (จีดีพี)​ ญี่ปุ่นไตรมาสที่สาม คาดว่าจะขยายตัว 0.8% จากไตรมาสก่อนจากการบริโภคภาคเอกชนที่กักตุนสินค้าก่อนหน้าการขึ้นภาษีซื้อในญี่ปุ่น

นอกจากนี้​ ฝั่งสหรัฐ ในวันพุธ (13​ พ.ย.)​ จะมีการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อ (Core CPI) คาดว่าจะปรับตัวขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหรือคิดเป็นการปรับตัวขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งมาจากผลของการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน

ขณะที่วันพุธถึงพฤหัส​ (13-14​ พ.ย.)​ ประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวล มีกำหนดขึ้นให้แถลงการกับสภาทั้งเรื่องเศรษฐกิจและงบประมาณของสหรัฐ ซึ่งน่าจะถูกกดดันให้ใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

ข้ามมาฝั่งจีน ในวันพฤหัส​ (14​ พ.ย.)​ จะมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือน คาดว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัว 5.5% จากปีก่อน ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์คงทนจะขยายตัวระดับ 5.4% และตัวเลขค้าปลีกน่าจะขยายตัว 7.8% ถือว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนทรงตัวในช่วงที่ผ่านมา

ด​ร.จิติพล​ กล่าวว่า​ ส่วนของเงินบาทถือว่าปรับตัวอ่อนค่ามาตลอดในช่วงสัปดาห์ก่อน แรงหนุนหลักมาจากทั้งการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย และเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก


“ในสัปดาห์นี้ เรามองภาพตลาดการเงินที่เปิดรับความเสี่ยง (Risk On) พร้อมกับผลตอบแทน​พันธบัตร​ (บอนด์ยีลด์)​ สหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้น จะสร้างแรงกดดันให้นักลงทุนลดการถือครองเงินบาทลง จุดที่ต้องระวังคือการเจรจาการค้าที่อาจพลิกไปมาได้ ถ้าสุดท้ายไม่มีข้อตกลงเกิดขึ้น เงินหยวนรวมไปถึงสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ก็อาจอ่อนค่ากลับ เช่นเดียวกันถ้าบอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวขึ้นต่อ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าขึ้นตาม” ด​ร.จิติพลกล่าว