บิ๊ก KBank “ปรีดี-ขัตติยา” เปิดแผนธุรกิจปี’63 ยุคดอกเบี้ยขาลง

สัมภาษณ์

นอกจากปีนี้อุตสาหกรรมแบงก์ยังต้องเจอกับปัจจัยรุมเร้ามากมาย นอกเหนือไปจากที่ต้องดิ้นรนให้พ้นจากภาวะการถูกดิสรัปต์แล้ว ยังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คุณภาพหนี้ที่ด้อยลง หนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แถมภาวะดอกเบี้ยขาลงยิ่งเข้ามาเพิ่มแรงกดดัน ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ ยังต่อเนื่องไปถึงปี 2563 ส่วนแบงก์จะเอาตัวรอดกันอย่างไร สองกรรมการผู้จัดการแห่งค่ายธนาคารกสิกรไทย (KBank) ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงทิศทางการทำธุรกิจในระยะข้างหน้า ดังนี้

ตั้งเป้าสินเชื่อโตลดลง

“ขัตติยา อินทรวิชัย” บอกว่า ปีนี้ (2562) การเติบโตของสินเชื่อของธนาคารน่าจะโตได้ในกรอบล่างที่ 5% (ตั้งเป้าโต 5-7%) จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่วนปี 2563 ตั้งเป้าสินเชื่อโต 4-6% แบ่งเป็นสินเชื่อรายย่อยคาดจะโตได้ 9-11% สินเชื่อรายใหญ่ 2-4% และสินเชื่อเอสเอ็มอี 1-2% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คาดว่าจะบริหารจัดการให้อยู่ในกรอบ 3.6-4% ได้

“ปีนี้ ช่วง 9 เดือนแรก NPL อยู่ที่ระดับ 3.53% และคาดว่าถึงสิ้นปี 2562 จะอยู่ที่ระดับ 3.3-3.7% ส่วนปีหน้าก็น่าจะบริหารให้อยู่ในกรอบ 3.6-4% ได้”

ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียม เชื่อว่าปีหน้าคงยังไม่ฟื้นตัว โดยมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) ที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2563 ให้นับรวมค่าธรรมเนียมเข้ากับส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ซึ่งจะทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมลดลงอีก และ NIM จะสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.1-3.3% ซึ่งปีหน้าคาดว่าการตั้งสำรองก็น่าจะปรับเพิ่มขึ้น จากที่ธนาคารมีนโยบายบริการหนี้เสียเอง หลังจากตัดขายออกไปบางส่วน โดยในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี การขายอาจได้ราคาต่ำ

รุกรายย่อย-ชูธงปล่อยกู้ดิจิทัล

ขณะที่ “ปรีดี ดาวฉาย” ฉายภาพว่า เป้าสินเชื่อปีหน้าที่ตั้งเป้าที่ 4-6% ลดลงเล็กน้อยจากปีนี้ ตามสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีการปรับคาดการณ์การเติบโตลง ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อจึงจำเป็นต้องทำอย่างระมัดระวัง เนื่องจากในการปล่อยสินเชื่อแต่ละครั้งความเสี่ยงจะต้องอยู่กับธนาคารไปอีกนาน โดยยังเชื่อว่าสินเชื่อรายย่อย จะเติบโตได้มากที่สุด เพราะยังมีลูกค้าบางส่วนที่กู้หนี้นอกระบบ หรือใช้บริการสินเชื่อจากนอนแบงก์อยู่ ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ น่าจะมีความต้องการที่ดีขึ้น

“ปีหน้าโอกาสเติบโตในกลุ่มรายย่อยจะมีมาก โดยในยุคที่ธนาคารนำข้อมูลมาใช้มากขึ้น ทำให้เห็นโอกาสมากขึ้น ซึ่งปีหน้า เราตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล (digital lending) ที่ 100,000 ล้านบาท จากที่ปีนี้ปล่อยไปแล้วราว 10,000-20,000 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อรายใหญ่ดีมานด์ก็ควรจะดีขึ้น แต่ของเราจะโตรายย่อยมากกว่า”

รายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ยติดลบ

ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (noninterest income) ที่ปีหน้ามีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ติดลบ 5-17% นั้น “ปรีดี” อธิบายว่า เป้าดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบกับตัวเลขสมมุติ โดยเทียบกับฐานของสิ้นปี 2562 ซึ่งหลังรับรู้ฐานช่วงสิ้นปีนี้ (ตัวเลขจริง) แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่าการติดลบ กรอบจะแคบลงได้อีก

หนี้เสียสร้างปัญหา

สำหรับความท้าทายในปีหน้านั้น “ปรีดี” บอกว่า สถานการณ์หนี้ NPL ที่น่าจะผ่านจุดพีก (สูงสุด) ไปแล้ว จะยังมีผลกระทบลากยาวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากบริบททางเศรษฐกิจยังมีปัจจัยแวดล้อมเชิงลบ เช่น สงครามการค้าที่ยังไม่นิ่ง หรือการที่สหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย เป็นต้น

หวังอีอีซีดันโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์

ส่วนปัจจัยบวก “ปรีดี” มองว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลไทยผลักดัน น่าจะส่งผลให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดย 5 โครงการที่เกิดขึ้น ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมให้เกิดการเข้ามาลงทุน หรือเกิดการย้ายฐานการผลิตมากขึ้น

ซึ่งจะทำให้สินเชื่อโครงการ (project finance) ปล่อยได้มากขึ้น แต่ปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่าวิธีการระดมทุนของธุรกิจขนาดใหญ่เปลี่ยนไปจากในอดีต มีหลายวิธีขึ้น อย่างการออกหุ้นกู้ เพราะธุรกิจขนาดใหญ่มีความแข็งแรงขึ้น ก็สามารถตัดตัวกลางออกไปได้ ไม่เหมือนในอดีตที่จะต้องมาพึ่งพาแต่แบงก์

ทั้งนี้ “ปรีดี” ยอมรับว่า ที่ผ่านมาก็มีธุรกิจรายใหญ่เข้ามาคุยกับธนาคารหลายราย และธนาคารเองก็ออกไปหาลูกค้ารายใหญ่เองด้วย แต่ลูกค้าส่วนใหญ่จะมีแบงก์ต่างชาติที่คอยให้การสนับสนุนด้านการเงินอยู่แล้ว ซึ่งธนาคารไทยก็จะต้องแข่งขันในแง่ของการลดดอกเบี้ยเงินกู้ หรือลดค่าธรรมเนียม เป็นต้น

ลดสาขาเหลือกว่า 800 แห่ง

ส่วนของการปรับลดสาขาในปีหน้านั้น “ปรีดี” บอกว่า ธนาคารตั้งเป้าลดสาขาลงให้เหลือแค่กว่า 800 สาขา (ณ สิ้น ก.ย. 62 อยู่ที่ 896 สาขา) อย่างไรก็ดี ตัวเลขการเปิด/ปิดสาขาอาจไม่ได้นิ่งไปตลอด ขึ้นอยู่กับความแพร่หลายในการใช้โมบายแบงกิ้งเค พลัส (K Plus) การทำธุรกรรมผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์ของธนาคาร เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น เป็นต้น หากลูกค้านิยมทำธุรกรรมผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเปิดสาขาใหม่เพิ่ม

ส่วนแนวคิดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะเปิดให้บุคคลธรรมดาทำหน้าที่แบงกิ้งเอเย่นต์ได้นั้น เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะหากบุคคลนั้น ๆ ทำไม่ถูกต้องกับลูกค้า ธนาคารก็จะต้องรับผิดชอบด้วย