สศค.ดึงแบงก์รัฐช่วยผู้มีรายได้น้อย หวังลดหนี้นอกระบบ 6.8 หมื่นล้านบาท

สศค.เปิดตัวเลขผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยกว่า 1.2 ล้านคน มีหนี้นอกระบบรวมถึง 68,003 ล้านบาท เร่งประสานงานธนาคารรัฐ ทั้ง ออมสิน ธกส.ให้ตั้งทีมงานให้คำปรึกษาหนี้นอกระบบ เสริมโปรแกรมพิเศษให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ 0.85%ต่อเดือน ตั้งวงเงินพร้อมช่วยเหลือ 10,000 ล้านบาท

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวขณะลงพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ผู้ที่ลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ว่า ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย 11.4 ล้านคน ซึ่งกว่า 1.2 ล้านคน เป็นหนี้นอกระบบซึ่งมีมูลค่ารวม 68,003 ล้านบาท เฉลี่ยที่ 54,094 บาท/ราย โดยทาง สศค.จะแก้ปัญหาผ่านการร่วมมือกับ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ที่จะจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อให้คำปรึกษาเรื่องหนี้นอกระบบโดยเฉพาะ ในแต่ละสาขาในทุกจังหวัด

ทั้งนี้ ทางธนาคารออมสินและ ธกส.ยังมีโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินโดยให้วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 5 หมื่นบาท ในอัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน หรือประมาณ 10% ต่อปี และมีระยะเวลาการผ่อนชำระ 5 ปี โดยทั้ง 2 ธนาคาร มีวงเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท (ธนาคารละ 5,000 ล้านบาท) และเริ่มปล่อยสินเชื่อตั้งแต่ 29 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา ปัจจุบันธนาคารออมสินมียอดปล่อยสินเชื่อในโครงการนี้ที่ 1,745 ล้านบาท หรือ 42,052 ราย ในขณะที่ทาง ธกส. มีมียอดปล่อยสินเชื่อในโครงการนี้ที่ 3,051 ล้านบาท หรือ 64,071 ราย

“เดิมลูกหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบเดือนละ 5-6 พันบาท อัตราดอกเบี้ย 10% ต่อเดือน โดยที่เงินต้นไม่ลดลง แต่เมื่อมาลงทะเบียน และได้รับการช่วยเหลือจากโครงการฯจะผ่อนเหลือเดือนละพันกว่าบาท ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.85 ต่อเดือน และพอชำระหนี้ก็ลดทั้งต้นทั้งดอก เป็นการลดภาระของลูกหนี้” นายกฤษฎา กล่าว

นอกจากนี้ทาง สศค.ยังวางมาตรการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ผ่านการสนับสนุนให้เจ้าหนี้นอกระบบ เข้ามาให้บริการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือพิโกไฟแนนซ์ เริ่มให้บริการตั้งแต่ 31 ก.ค. 2560 ซึ่ง ณ 31 ส.ค.60 มีผู้ยื่นคำขอและผ่านการอนุญาตทำธุรกิจแล้ว 121 ราย ใน 40 จังหวัด และมีการอนุมัติสินเชื่อกว่า 1,336 ราย คิดเป็นวงเงิน 42.19 ล้านบาท วงเงินเฉลี่ยรายละ 31,579 บาทต่อคน โดยทาง สศค.ตั้งเป้าหมายว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 200 ราย

ทั้งนี้ สศค.พาผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ มาร่วมลงพื้นที่สำรวจ 2 ราย หนึ่งในสองได้ให้ความเห็นว่า ก่อนหน้านี้ตนมีหนี้นอกระบบรวม 50,000-60,000 บาท จ่ายอัตราดอกเบี้ยที่ 5% ต่อเดือน ซึ่งแต่ละเดือนจะผ่อนจ่ายประมาณ 3,000 บาท ทำให้เงินต้นไม่ลดลง ซึ่งในเวลานั้นเคยไปติดต่อธนาคารเพื่อขอกู้มาชำระหนี้ แต่เนื่องจากตนมีรายได้ไม่แน่นอนและไม่มีหลักประกัน จึงไม่สามารถกู้มาชำระหนี้ได้ ซึ่งขณะนี้ได้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย และถ้าขอสินเชื่อจากโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินผ่านแล้ว ก็จะช่วยลดภาระและสามารถจ่ายหนี้ได้ ทั้งนี้ อยากให้ทางภาครัฐมีการผ่อนปรนในการกู้สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอนและไม่มีหลักประกัน ซึ่งทาง สศค.ได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว