2 แบงก์หวั่นค่าฟีปี’63 ไม่กระเตื้อง

“กรุงไทย” ชี้หลายสาเหตุกดดันค่าฟี ทั้งการแข่งขันสูง-มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 ฯลฯ หันพึ่งดอกเบี้ยเป็นรายได้หลักแทนค่าฟีที่กดตัว ฝั่ง “ไทยพาณิชย์” คาดค่าฟีเสี่ยงหดตัวตามอุตสาหกรรม รอประเมินสถานการณ์เพื่อจัดทำแผนปีหน้าอย่างใกล้ชิด

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ของธนาคารยังได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ได้แก่ การแข่งขันของอุตสาหกรรมธนาคารที่สูงขึ้น การระมัดระวังเรื่องของการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market conduct) และการบันทึกบัญชีตามรูปแบบมาตรฐานทางบัญชีใหม่ TFRS9 โดยการบันทึกบัญชีรูปแบบใหม่ขณะที่กิจกรรมของธนาคารยังเท่าเดิม อันนี้ก็ส่งผลกระทบต่อรายได้ค่าฟีแบงก์

“บางรายพอเราไปดูเรื่องของค่าฟีจะเป็นการโยกระหว่างค่าฟีกับดอกเบี้ย หรือการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) ซึ่งปัจจุบันกฎเกณฑ์บังคับให้ต้องคำนวณด้วยวิธีนี้ ไม่สามารถคำนวณด้วยเกณฑ์เงินสด (Cash Basis) ได้เหมือนเดิม ดังนั้น การเล่นกลยุทธ์ต่างๆ ในการดึงดูดลูกค้าจะส่งผลกระทบต่อค่าฟีแบงก์ทันที นอกจากนี้ มาตรฐานทางบัญชีใหม่ยังระบุให้ดูแลตลอดอายุการทำธุรกรรมนั้นๆ ของลูกค้า ดังนั้น แบงก์ก็ต้องเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการ ซึ่งหลายธนาคารก็ได้รับผลกระทบดูจากตัวเลขงบที่รายงาน” นายผยง กล่าว

นายผยง กล่าวว่า ปัจจุบันค่าฟีของธนาคารกรุงไทยยังเติบโตเป็นบวก แม้จะสามารถเติบโตได้เพียงเลขหลักเดียว (Single Digit) ซึ่งก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาในปัจจุบันไปแล้ว (New Normal) และยากที่จะเห็นการเติบโตของรายได้ค่าฟีระดับเลขสองหลัก (Double Digit) อย่างในอดีต ขณะที่ปี 2563 ธนาคารก็จะยังมุ่งเติบโตจากรายได้ทั้งฝั่งของรายได้ค่าฟีและรายได้ดอกเบี้ย ซึ่งรายได้ดอกเบี้ยยังถือเป็นรายได้หลักของธนาคารในตอนนี้ หากมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกในอนาคตก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารโดยตรง

ขณะที่ธรรมชาติของธุรกรรมที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ มีการลดการใช้คนและการใช้กระดาษไปในตัว ดังนั้น ผู้บริโภคจึงคาดหวังว่าธนาคารจะชาร์จค่าธรรมเนียมกับลูกค้าในราคาที่เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งหลายๆ ครั้งอาจจะเกิดขึ้นในลักษณะที่ธนาคารให้ได้รับผลดีจากการทำธุรกรรมใหม่ๆ ไปก่อน แต่ต้นทุนของธนาคารอาจไม่สามารถลดได้เร็วเท่ากับราคาที่ธนาคารส่งต่อไปยังผู้บริโภค ซึ่งต้นทุนดังกล่าวเป็นจุดที่ธนาคารจะต้องบริหารจัดการ

“เรื่องหนึ่งที่ผมพูดมาโดยตลอดซึ่งเป็นสิ่งแรกที่เราต้องทำและเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด คือ การเก็บลูกค้าไว้กับแบงก์ โดยเรื่องของการรักษาลูกค้าเอาไว้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการชาร์จค่าฟีแพงหรือถูกอีกต่อไป แต่จะเป็นเรื่องของการที่ธนาคารสามารถตอบโจทย์เข้ากับไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมลูกค้าได้” นายผยง กล่าว

นอกจากนี้ นายผยง ชี้ว่า การสร้างสิ่งแวดล้อม (ecosystem) หรือการมีพันธมิตรที่จะสามารถตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ลึกขึ้นและยืนยาวต่อไป เช่น การโดยสารรถแท็กซี่ การโดยสารรถเมล์ หรือแม้กระทั่งการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งธนาคารจะต้องเข้าไปตอบโจทย์ลูกค้า ณ จุดนั้น หรือ ณ ช่วงเวลานั้นที่ลูกค้ากำลังตัดสินใจ ธนาคารจึงต้องเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ เมื่อมีพันธมิตรเข้ามาตอบโจทย์ลูฏค้าแล้วจะส่งผลให้ธนาคารเข้าไปสู่รูปแบบการทำธุรกิจใหม่ (New Business Model) โดยชี้ว่าในปัจจุบันก็ยังไม่มีธนาคารพาณิชย์ใดเข้าสู่ New Business Model ได้จริงๆ แต่ยังเป็นภาพของการเริ่มลองผิดลองถูกกันอยู่

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ทิศทางของปี2563 คาดว่ารายได้ค่าฟีของธนาคารจะเป็นไปตามแนวโน้มรายได้ค่าฟีของอุตสาหกรรมที่อาจมีความเสี่ยงปรับลดลง แม้ปัจจุบันอาจจะเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าแนวโน้มรายได้ค่าฟีของแบงก์จะเป็นไปตามที่ในอุตสาหกรรมคาดการณ์เอาไว้หรือไม่ แต่ธนาคารไทยพาณิชย์ก็มีการติดตามเรื่องของรายได้ส่วนนี้อย่างใกล้ชิด


ขณะที่แผนการดำเนินงานปี 2563 นายอาทิตย์ กล่าวว่า ธนาคารจะเตรียมพิจารณาทำแผนการดำเนินงานปี 2563 ในช่วงเดือน ธ.ค.62 เนื่องจากต้องมีการติดตามและพิจารณาสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงติดตามตัวเลขเศรษฐกิจที่จะประกาศในช่วงที่เหลืออีกด้วย โดยมองว่าในปี 2563ยังมีปัจจัยที่พร้อมจะพลิกกลับขึ้นมาเป็นบวกได้ เช่น ปัจจัยภายนอกเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และปัจจัยภายในเรื่องของการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี (EEC) เป็นต้น