คลังเร่งหาข้อสรุป​ลดภาษี​น้ำ​มันอุ้มโลคอสต์แอร์​ไลน์​

แฟ้มภาพ

อุตตม สั่งสรรพสามิตเข้าไปเจรจา พิจารณารายละเอียดให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ หลังสายการบินโลคอสต์ยื่นหนังสือขอลดภาษีน้ำมัน ฝั่งสรรพสามิตเผยการลดภาษีดังกล่าวต้องคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำของระบบขนส่งทั้งหมด ชี้การบินโลคอสต์จ่ายภาษีถูกกว่าระบบขนส่งอื่น 3-4 เท่า

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรณีที่ตัวแทนผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำ (โลคอสต์แอร์ไลน์) ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนขอให้พิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิต น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น เบื้องต้นรับทราบแล้ว แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดของหนังสือร้องเรียน อย่างไรก็ดี ได้ให้กรมสรรพสามิตเข้าได้พิจารณาในรายละเอียดแล้วว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดยอาจจะต้องมีการเข้าไปหารือกับผู้ประกอบการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และจะเร่งสรุปผลให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

“อย่างไรก็ดี การที่จะปรับลดภาษีดังกล่าวจะต้องพิจารณาในหลายๆ ปัจจัย โดยจะพยายามดูแลให้ครบทุกภาคส่วน เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะต้องให้เวลากรมสรรพสามิตและรองปลัดกระทรวงการคลังเข้าไปดูในรายละเอียดให้ชัดเจนก่อน โดยกระทรวงการคลังจะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในปีนี้” นายอุตตม กล่าว

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ในการขอให้พิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นของสายการบินโลคอสต์นั้น จะต้องเข้าไปดูในรายละเอียดด้วยว่า หลังจากที่มีการปรับลดภาษีแล้ว สายการบินดังกล่าวจะมีการปรับลดราคาตั๋วเครื่องบินลงด้วยหรือไม่ รวมทั้งจะต้องพิจารณาถึงความเหลื่อมล้ำของระบบขนส่งภายในประเทศด้วย เนื่องจากไม่สามารถลดอัตราภาษีได้เฉพาะกลุ่ม หากจะมีการปรับลดภาษีก็ต้องลดลงทุกระบบการขนส่งในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม สายการบินโลคอสต์ที่จะต้องจ่ายภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน หรือเรียกว่า JET A-1 จ่ายเพียงภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เท่านั้น โดยรวมแล้วสายการบินดังกล่าวจ่ายภาษีถูกกว่าระบบขนส่งอื่นๆ 3-4 เท่า โดยระบบการขนส่งอื่นๆ อย่างเช่น รถไฟจะต้องจ่ายภาษี ทั้งภาษีสรรพสามิต กระทรวงมหาดไทย กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนอนุรักษ์ และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย

ขณะที่การปรับขึ้นภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปัจจุบันอยู่ที่ราคา 4.726 บาทต่อลิตร ซึ่งปรับขึ้นเมื่อปี 2560 จากเดิมที่เคยถูกเก็บที่ 0.2 บาทต่อลิตรนั้น ไม่ได้มีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของกรม เนื่องจากกรมเก็บภาษีน้ำมันจากเครื่องบินไอพ่นได้เพียง 3.5 พันล้านบาท จากมูลค่าที่จัดเก็บภาษีน้ำมันทั้งหมดได้ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักที่กรมปรับขึ้นภาษีน้ำมันเป็นเพราะว่าโครงสร้างการส่งออกน้ำมันทางอากาศของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระบบขนส่งทางอากาศของประเทศอื่นมาก จึงมีการปรับเพิ่มขึ้น

ส่วนข้อร้องเรียนที่สายการบินโลคอสต์เสนอเข้ามาว่า อีกสาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนอย่างหนัก เนื่องจากได้รับผลกระจากการแข็งค่าของเงินบาทไทย เบื้องต้นมองว่า ผู้ประกอบการสามารถซื้อน้ำมันจากต่างประเทศเข้ามาใช้ได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ด้วย

ทั้งนี้ เบื้องต้นกรมจะชี้แจงรมว.คลัง อีกครั้งว่า ในการพิจารณาเบื้องต้นจะต้องทำให้สอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยว และไม่ให้กระทบความเหลื่อมล้ำของระบบขนส่งภายในประเทศด้วย และหากสายการบินโลคอสต์ได้รับผลกระทบจนกระทั่งไม่พร้อมบินหรือหยุดให้บริการ กรมก็ได้มีการหารือกับสายการบิน ดีดี การบินไทยแล้ว โดยสายการบินก็มีความพร้อมในการให้บริการ เชื่อว่าจะไม่กระทบการขนส่งทางอากาศ

ขณะที่วานนี้ (13 พ.ย.62) ตัวแทนผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำ (โลคอสต์แอร์ไลน์) ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนขอให้กระทรวงการคลังพิจารณา เบื้องต้น คือ 1.ผู้ประกอบการขอให้ลดภาษีลงจากปัจจุบัน ส่วนจะเป็นเท่าใดนั้น ก็ขึ้นกับการพิจารณา โดยเมื่อเอกชนแข็งแรงขึ้นแล้วก็ค่อยทยอยปรับขึ้นในอีก 2-3 ปี และ 2.กำหนดช่วงอัตราแลกเปลี่ยน ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลง จะกำหนดอัตราภาษีน้ำมันที่เท่าใด เช่น การอ่อนค่าของเงินบาททุก ๆ 2 บาท ก็อาจจะเก็บภาษีที่อัตราหนึ่ง เป็นต้น