“โมบายแบงกิ้ง” โตก้าวกระโดด แบงก์จัดโปรดักต์รับ ธปท.กดปุ่ม e-KYC

“โมบายแบงกิ้ง” โตก้าวกระโดด “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี” เผยมูลค่าธุรกรรมพุ่งเฉียด 6 ล้านล้านบาท/ไตรมาส ชี้คนแห่โอนเงิน “พร้อมเพย์” ขยับแซงหน้า “ORFT” เชื่อระบบ e-KYC เกิดยิ่งหนุนการเติบโต ธปท. ระบุทยอยอนุญาตให้แบงก์ที่ทดสอบเฟสแรกออกจากแซนด์บอกซ์ก่อนสิ้นปีนี้ ส่วน e-KYC ข้ามแบงก์รอต้นปีหน้า ฟากแบงก์ขานรับจัดโปรดักต์ชิงลูกค้า

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การมีระบบให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) โดยเฉพาะเมื่อสามารถให้บริการระหว่างธนาคารได้ จะทำให้ธุรกรรมบนโมบายแบงกิ้งเติบโตขึ้นอีกมาก จากที่ขณะนี้ก็เติบโตก้าวกระโดด โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2562 นี้มีมูลค่าธุรกรรมสูงถึง 5.8 ล้านล้านบาท/ไตรมาสแล้ว เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ปี 2560 ที่มีมูลค่าเพียง 5 แสนล้านบาท ส่วนปริมาณธุรกรรมก็เพิ่มมาอยู่ที่ 1,080.1 ล้านรายการ/ไตรมาส จากที่อยู่ที่ 76.3 ล้านรายการ ตอนสิ้นไตรมาส 2 ปี 2560

ขณะที่การโอนเงินผ่าน “พร้อมเพย์” เริ่มแซงหน้า “การโอนเงินรายย่อยระหว่างธนาคาร” (ORFT) แล้ว โดยมีมูลค่าธุรกรรมที่ 2.95 ล้านล้านบาท (ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2562) ขณะที่ ORFT อยู่ที่ 2.89 ล้านล้านบาท ส่วนปริมาณธุรกรรมพร้อมเพย์อยู่ที่ 556.6 ล้านรายการ ส่วน ORFT อยู่ที่ 523.4 ล้านรายการ

“การโอนเงินผ่านโมบายแบงกิ้ง ถึงครึ่งปีแรกปีนี้ด้านปริมาณธุรกรรมโต 219% ส่วนด้านปริมาณโต 204% (ดูภาพประกอบ) ซึ่งพบว่า การโอนเงินผ่านพร้อมเพย์โตขึ้นเร็วมาก เมื่อก่อนจะมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของ ORFT เนื่องจากพร้อมเพย์มีค่าธรรมเนียมถูกกว่า คนก็เลยใช้กันมากขึ้น ซึ่งพร้อมเพย์โตถึง 262% ในด้านปริมาณธุรกรรม และโต 293% ในด้านมูลค่า ส่วน ORFT โต 184% ในด้านปริมาณ และโต 147% ในด้านมูลค่า” นายนริศกล่าว

นายนริศกล่าวว่า ด้วยต้นทุนโมบายแบงกิ้งที่ถูกกว่าช่องทางอื่น ๆ มาก อย่างช่องทางสาขา ซึ่งมีผลศึกษาว่า ต้นทุนการไปทำธุรกรรมที่สาขาจะตกเฉลี่ย 70 บาทต่อรายการ ยังไม่นับเรื่องการเสียเวลาของลูกค้า ส่วนโมบายแบงกิ้งไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาการให้บริการ โดยมองไปข้างหน้าช่องทางเอทีเอ็มก็จะค่อย ๆ ลดความสำคัญลงไปด้วย ขณะที่โมบายแบงกิ้งจะยิ่งเติบโตตามการซื้อสินค้าและสั่งอาหารออนไลน์

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะเริ่มอนุญาตให้สถาบันการเงินที่ทดสอบ e-KYC เฟสแรก ทยอยออกจากแซนด์บอกซ์ภายในก่อนสิ้นปีนี้ ส่วนการทดสอบ e-KYC แบบข้ามธนาคารที่การให้บริการจะมีแพลตฟอร์ม National Digital ID (NDID) เป็นตัวกลางนั้น คงต้องรอต้นปีหน้า

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ME by TMB ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า หากได้รับอนุญาตจาก ธปท. ให้ออกจากสนามทดสอบ (regulatory sandbox) ระบบ e-KYC แล้ว ทางทีเอ็มบีจะเสนอ ธปท. ขอขยายวงเงินการรับเงินฝากลูกค้าที่เปิดบัญชีด้วยตัวเองผ่าน e-KYC ได้ในวงเงินไม่จำกัด เพื่อตอบสนองลูกค้าที่ต้องการออมเงินในวงเงินที่มากขึ้น จากปัจจุบันที่ยังจำกัดแค่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ”

เนื่องจาก ME by TMB เป็นที่ที่คนจะมาออมเงิน ดังนั้นวงเงินแค่ 100,000 บาท ถือว่าน้อย สำหรับคนที่อยากออม ก็อยากได้ดอกเบี้ยมากกว่านี้ เพราะปัจจุบันเราให้ดอกเบี้ยสูงกว่าที่อื่นจนถึง 10 ล้านบาท ซึ่งถือว่าจูงใจอยู่แล้ว ดังนั้น ในแง่ดอกเบี้ยคงไม่มีการปรับ แต่จะปรับวงเงินเป็นหลัก” นายเบญจรงค์กล่าว

นายเบญจรงค์กล่าวอีกว่า ระยะต่อไป ธนาคารจะต่อยอดไปยังโปรดักต์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) ประกัน กองทุน หรืออื่น ๆ โดยใช้ฐานลูกค้าเงินฝากของทีเอ็มบี อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องดำเนินการก่อนนั้น ก็คือ การสร้างการรับรู้ ความคุ้นเคยในเทคโนโลยีที่ใช้ทำ e-KYC ก่อน

“การแข่งขันในระยะข้างหน้าเรื่องดอกเบี้ยก็คงมีอยู่ แต่สุดท้ายดิจิทัลโปรดักต์จะแข่งกันในเรื่องการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า ใครสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงใจกว่ากัน โดยใช้ดาต้าเข้ามาช่วย เช่น คนคนนี้เหมาะกับโปรดักต์แบบไหน คงไม่ได้แข่งราคาอย่างเดียวแล้ว” นายเบญจรงค์กล่าว

นายสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBank) กล่าวว่า ปัจจุบันกสิกรไทยก็มีบริการเปิดบัญชีเงินฝากโดยให้ลูกค้า e-KYC แบบไม่ต้องไปสาขา เรียกว่าบัญชี e-Saving ซึ่งธนาคารมีตู้ K Sheck ID ให้ลูกค้าไปยืนยันตัวตน โดยให้ดอกเบี้ยที่ 1.5% ต่อปี สูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ปกติ 3 เท่า โดยหลังจากนี้เมื่อสามารถให้บริการข้ามแบงก์ได้ กสิกรไทยก็จะเน้นเรื่องความสะดวกรวดเร็ว

“เราจะเน้นที่ว่าเรามีบริการต่าง ๆ ให้ใช้บนโมบายแบงกิ้ง K Plus อยู่มาก ไม่ว่าจะบริการชำระเงิน หรือการมีสินค้าที่เรามีแต่คนอื่นไม่มี ซึ่งที่ทำกันอยู่ นอกจากจะเริ่มใช้กับการเปิดบัญชีเงินฝากแล้ว ยังสามารถใช้ในการสมัครบริการต่าง ๆ ของธนาคารได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต การซื้อกองทุน ซื้อประกันชีวิต หรือแม้แต่ขอสินเชื่อ ซึ่งธนาคารกสิกรฯก็ตั้งเป้า Digital Lending ในปี 2563 ไว้ที่ 100,000 ล้านบาท” นายสุปรีชากล่าว

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า กรุงศรีฯตั้งเป้าไว้ว่า จะเริ่มเปิดตัว Digital Lending ในส่วนสินเชื่อไม่มีหลักประกัน คือ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ได้ในเดือน ก.พ. 2563 ผ่านทางแอปพลิเคชั่น U-CHOOSE ที่จะมีการปรับปรุงใหม่ในต้นปีหน้า