กนง.ชี้ศก.ไทย “เสี่ยงสูง-โตต่ำกว่าศักยภาพ” ห่วง “บาทแข็ง” กระทบธุรกิจ จ้างงานวูบส่อกระทบครัวเรือนชำระหนี้

แบงก์ชาติเปิดรายงาน กนง.หลังลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ชี้เศรษฐกิจไทย “เสี่ยงสูง-โตต่ำกว่าศักยภาพ” กระทบจ้างงาน ห่วง “บาทแข็ง” กระทบธุรกิจ เผยธุรกิจส่งออก “ยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์” ส่อชะลอหนัก หวั่นจ้างงานวูบกระทบการชำระหนี้ของครัวเรือน ชี้สัดส่วนครัวเรือนอ่อนไหวต่อ “income shock” มีมากขึ้น เตรียมพร้อมออกมาตรการคุมหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 7/2562 วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ซึ่ง กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ต่อปี มาอยู่ที่ 1.25% ต่อปี โดยในรายงาน ชี้ให้เห็นว่า กนง.ได้อภิปรายถึงปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงิน ดังนี้

1) เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้น โดยการส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้ ขณะที่การจ้างงานมีแนวโน้มปรับลดลงเร็วทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้

โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปเผชิญกับความเสี่ยงสูงทั้งปัจจัยต่างประเทศและปัจจัยในประเทศ ได้แก่ (1) การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่ยังไม่แน่นอน และวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด (2) แนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทยที่อาจเติบโตชะลอลง โดยเฉพาะจีนและเอเชีย รวมทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงขึ้น (3) การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักและภูมิภาคที่อาจผ่อนคลายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ตลาดการเงินผันผวนและสะสมความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน (4) ความไม่แน่นอนของการใช้จ่ายภาครัฐ ความคืบหน้าของโครงการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน (5) การบริโภคภาคเอกชนที่อาจชะลอตัวกว่าคาดจากการจ้างงานและรายได้ที่ลดลง และ (6) ความเสี่ยงของภัยแล้งในปีหน้าที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตและรายได้ภาคเกษตร

ซึ่ง กนง.เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวม โดยเห็นผลกระทบต่อกำไรและสภาพคล่องของธุรกิจ การจ้างงานในภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกปรับลดลงเร็ว อุปสงค์ในประเทศชะลอตัวชัดเจนขึ้น รวมทั้งความสามารถในการชำระหนี้ด้อยลงในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออก สะท้อนจากคุณภาพสินเชื่อที่มีแนวโน้มด้อยลงต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

2) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2562 และปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและอุปทานน้ำมันของซาอุดิอาระเบียที่กลับมาเร็วกว่าคาด ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงกว่าที่คาดตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลง ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อยังมีความไม่แน่นอนจากความผันผวนของราคาน้ำมันและสภาพอากาศ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นช้ากว่าในอดีต

3) ความเสี่ยงในระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วนด้วยมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไป อาทิ ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับดีขึ้นหลังมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ สะท้อนจากการเก็งกำไรที่ชะลอลงและการปรับตัวของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอลง

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงในจุดอื่น ๆ ยังไม่ปรับดีขึ้นและเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม อาทิ (1) ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ที่มีแนวโน้มด้อยลงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะหากมีปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่กระทบรายได้เพิ่มเติม ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องซึ่งส่งผลให้ครัวเรือนสะสมความเปราะบางมากขึ้น (2) พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และสหกรณ์ออมทรัพย์ และ (3) ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์จากอุปทานคงค้างในบางพื้นที่

คณะกรรมการฯ เห็นว่าในระยะต่อไปที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสมและตรงจุดยิ่งขึ้น เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งเห็นควรให้ ธปท. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้และคลินิกแก้หนี้ การนำแนวทางการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (responsible lending) ไปใช้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการสร้างวินัยทางการเงินและส่งเสริมการออมของครัวเรือน

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามผลของมาตรการที่ได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และศึกษามาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อดูแลความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ กนง. ได้อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เป็น 1.25% ต่อปี โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลงชัดเจนและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมาย ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศ เพื่อให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้มีเวลาปรับตัวเพื่อรับมือกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

โดยเร่งปรับโครงสร้างหนี้ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ อาทิ การขยายขอบเขตของโครงการคลินิกแก้หนี้ให้ครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้น การปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจ SMEs เพื่อให้สามารถผ่อนชำระหนี้และดำเนินกิจการต่อไปได้อีก ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเอื้อให้นโยบายการคลังของภาครัฐช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ควบคู่กับการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง

ขณะที่กรรมการ 2 ราย เห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอยู่แล้วอาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว ประกอบกับเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้จำกัด เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าตามเงินทุนไหลเข้าจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นหลัก รวมทั้งยังจำเป็นต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีจำกัดเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต

คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน โดยคณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของข้อมูล (data-dependent) ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบ
การเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นถึงความจำ าเป็นในการประสานเชิงนโยบายและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการฟื้นตัวและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

บาทแข็งกดดันการจ้างงาน-อุปสงค์ในประเทศ

ทั้งนี้ รายงานยังระบุว่า คณะกรรมการ กนง. มีความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งภายใต้แนวโน้มที่เศรษฐกิจขยายตัวชะลอลง โดยเห็นว่าในภาวะที่ความเสี่ยงด้านต่างประเทศยังมีอยู่สูงเศรษฐกิจอาจอ่อนไหวต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่ามากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมต่อการจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลง โดยเฉพาะภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ สนับสนุนให้ ธปท. ผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก และสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และช่วยให้ภาคเอกชนบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกขึ้น

ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน เงินทุนเคลื่อนย้าย และผลกระทบต่อเศรษฐกิจผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และให้ทบทวนผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกที่ได้ดำเนินการไปทุก 3 เดือน รวมทั้งพิจารณาดำเนินมาตรการเพิ่มเติมตามความจำเป็นในจังหวะที่เหมาะสม ทั้งมาตรการที่ ธปท. สามารถดำเนินการได้เองและมาตรการที่ต้องผลักดันและประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง เช่น การลงทุนในโครงการที่มีการนำเข้าสินค้าทุนสูง ซึ่งจะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงช่วยเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

ธุรกิจส่งออก “ยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์” เสี่ยงชะลอหนัก

นอกจากนี้ กนง. ยังประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงที่อาจจะชะลอตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย อาทิ (1) ธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการ
ชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงภายในอุตสาหกรรม เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติแทนแรงงานคน (automation) แนวโน้มการขยายตัวของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (electric vehicle: EV) ที่ใช้ชิ้นส่วนน้อยลง ทำให้ความต้องการจ้างแรงงานลดลง และ (2) ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ที่วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจได้รับประโยชน์จากวัฏจักรขาขึ้นน้อยลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

จ้างงานวูบ-จับตาการชำระหนี้ของครัวเรือน

สำหรับอุปสงค์ในประเทศ คณะกรรมการฯ กังวลต่อแนวโน้มการจ้างงานที่ปรับลดลงเร็ว ทั้งในหลายภาคเศรษฐกิจทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและผลกระทบจากภัยแล้งในปีหน้า จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดแรงงานและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ในด้านการก่อหนี้ พบว่า คุณภาพของสินเชื่อธุรกิจ SMEs ด้อยลงต่อเนื่อง โดยกลุ่มธุรกิจ SMEs ขนาดกลางเริ่มมีคุณภาพสินเชื่อด้อยลงมากขึ้น เพิ่มเติมจากกลุ่มธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก ซึ่งมีความเปราะบางสูงจากปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่ก่อนแล้ว ขณะที่ธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้ามีคุณภาพสินเชื่อด้อยลงเช่นกัน

ห่วงครัวเรือนอ่อนไหวต่อ “income shock” มีมากขึ้น

สำหรับด้านหนี้ครัวเรือน พบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารโดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งนี้ ภาคครัวเรือนใช้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหลักประกันเพื่อเสริมสภาพคล่องมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ นอกจากนี้ ครัวเรือนที่อ่อนไหวต่อปัจจัยลบทางเศรษฐกิจซึ่งกระทบรายได้ (income shock) มีสัดส่วนเพิ่ม

 

คลิกอ่านเพิ่มเติมรายงานการประชุมฉบับย่อ