สรรพสามิตถกโลว์คอสต์ลดภาษีน้ำมันไร้ข้อสรุป นัดใหม่อีก 2 สัปดาห์

สรรพสามิตถกโลว์คอสต์ไร้ข้อสรุป ชี้หากกรมปรับลดภาษีสายการบินต้องมีแผนช่วยการท่องเที่ยวเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์เชิงสาธารณะ พร้อมนัดหาข้อสรุปใหม่อีก 2 สัปดาห์

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ได้เรียกผู้บริหารสายการบินโลว์คอสต์ รวม 7 แห่ง และผู้ประกอบการน้ำมัน 5 แห่ง มาหารือผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่อง เจ็ตเอ 1 ที่ปรับขึ้นจาก 0.20 บาทต่อลิตร เป็น 4.70 บาทต่อลิตร ในปี 2560 โดยผู้ประกอบการชี้แจงว่า อยากให้ปรับลดภาษี เพราะได้รับผลกระทบอย่างมาก มีต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้น 20 เท่า จึงได้สั่งให้ผู้ประกอบการไปทำแผนมาเสนอภายใน 2 สัปดาห์ว่าถ้ามีการปรับลดภาษีให้ จะมีแผนช่วยภาคการท่องเที่ยว เป็นประโยชน์ในเชิงสาธารณอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร

“ขอความกรุณาผู้ประกอบการโลว์คอสต์ ไปวิเคราะห์ข้อมูล เตรียมตัวเลขมาให้ชัดเจนถ้าต้องลดภาษี จะเกิดประโยชน์ต่อภาคการท่องเที่ยว และต้องเป็นแนวทางที่จับต้องได้ เช่น จะเพิ่มเที่ยวบินไปยังจังหวัดเมืองรองเท่าไหร่ กระตุ้นการท่องเที่ยวได้อย่างไร ซึ่งจะต้องเชิญการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มาหารือด้วยครั้งหน้า” นายพชร กล่าว

อย่างไรก็ดี หากข้อเสนอไม่เป็นรูปธรรม กรมต้องปฏิเสธข้อเสนอขอลดภาษีน้ำมัน แม้ว่าผู้ประกอบการจะระบุว่า ปัจจุบันมีต้นทุนเชื้อเพลิง 30% และเริ่มมีผลกระทบต้องลดเที่ยวบินในเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ จาก 15 ไฟลท์ต่อวันเหลือ 10 ไฟลท์ ต่อวันก็ตาม เนื่องจากกรมจัดเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบินไอพ่นได้เพียง 3 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่น้อยหากเทียบกับมูลค่าที่จัดเก็บภาษีน้ำมันทั้งหมดได้ 2.5 แสนล้านบาท ฉะนั้น ผู้ประกอบการต้องมีข้อเสนอมายื่นหมูยื่นแมว

ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัท การบินไทย และ ไทยสไมล์ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่จากการหารือ ทางการบินไทย ชี้แจงว่า ต้นทุนภาษีสรรพสามิตน้ำมันแค่ 5% เท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบมาก และไม่ได้ให้บริการเที่ยวบินในประเทศมากนัก ส่วนไทยสไมล์ ไม่ได้มีปัญหาเรื่องภาษีสรรพสามิตน้ำมัน แต่เสนอว่าถ้ามีการปรับลด ก็ควรต้องได้ประโยชน์กับทุกสายการบิน

 


คลิกอ่าน…“แอร์เอเชีย” นำทัพโลคอสต์ยื่นหนังสือขอคลังลดภาษีน้ำมัน ชี้หากรัฐไม่ช่วยปีหน้าอาจต้อง “หยุดบิน”