ธปท.ห่วงหนี้เสียธุรกิจพุ่ง แบงก์อ่วมตั้งสำรอง “TFRS9”

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดภาพสถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 เป็นไปตามที่มีการประเมินกันไว้ คือ NPL เพิ่มขึ้น ทั้งสัดส่วนที่เพิ่มมาอยู่ที่ 3.01% จาก 2.95% ณ สิ้นไตรมาส 2 ส่วนยอดคงค้าง NPL ก็เพิ่มขึ้น 1.9 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 4.695 แสนล้านบาท

“ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า NPL เพิ่มขึ้นจากลูกหนี้รายใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อ SMEs เป็นสำคัญ ขณะที่ยอดคงค้าง NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ก็ยังคงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่าภาพรวม NPL ในไตรมาส 4 จะมีแนวโน้มดีขึ้น จากที่ธนาคารพาณิชย์มีการบริหารจัดการโดยการปรับโครงสร้างหนี้ และการตัดขายหนี้เสีย เพื่อให้ NPL ของธนาคารเป็นไปตามเป้าที่วางเอาไว้

“ส่วนของภาพรวม NPL ปีหน้า (2563) จะขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งระบุยากว่า NPL ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วหรือยัง คงต้องถามกลับไปว่า เศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วหรือยังมากกว่า แต่เรายังเชื่อว่าถ้าธนาคารมีการดูแลในเชิงรุก น่าจะมีส่วนช่วยให้ NPL ปรับตัวดีขึ้นได้”

ทั้งนี้ พบว่า NPL ของสินเชื่อรายใหญ่อยู่ที่ 1.69% โดยมีลูกหนี้รายใหญ่บางรายถูกเปลี่ยนการจัดชั้นเป็น NPL แต่เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีการขายหนี้ออก ทำให้ NPL สินเชื่อรายใหญ่ยังทรงตัว ขณะที่ NPL สินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นจาก 4.52% เป็น 4.75%

ด้านสินเชื่อรายย่อยพบว่า NPL สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจาก 3.34% เป็น 3.49% และ NPL สินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นจาก 7.30% เป็น 7.42% ส่วนค่าใช้จ่ายสำรองของธนาคารยังคงเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับสินเชื่อด้อยคุณภาพและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

“สัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ณ สิ้นไตรมาส 3 ลดลงจาก 2.74% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 2.59% เนื่องจากลูกหนี้รายใหญ่บางรายถูกเปลี่ยนการจัดชั้นเป็น NPL”

“ธาริฑธิ์” กล่าวด้วยว่า การชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ เริ่มส่งผลกระทบต่อคุณภาพหนี้ธุรกิจขนาดกลางชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางที่มีขนาดสินเชื่อตั้งแต่ 100-500 ล้านบาท ในกลุ่มอาหาร กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ซึ่งมีสัดส่วนราว 10% เมื่อเทียบกับสินเชื่อทั้งระบบ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะกีดกันทางการค้า

“กลุ่มธุรกิจเหล่านี้อาจมีการสะดุดชั่วคราว หรือจำเป็นต้องปรับตัวในระยะสั้น ระหว่างที่มีปัจจัยสงครามการค้าที่ส่งผลให้การส่งออกลดลง โดยเป็นกลุ่มที่เราอยากให้สถาบันการเงินเข้าไปช่วยดูแล ซึ่งเราได้สื่อสารกับธนาคารไปว่า ลูกหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL หากมีการปรับโครงสร้างหนี้โดยที่ไม่มีส่วนสูญเสีย เราจะไม่นับเป็นบุคคลล้มละลายเคยปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) ส่วนสินเชื่อที่เป็น NPL หากการปรับโครงสร้าง ต้องปล่อยเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มก็สามารถทำได้”

ด้าน “เชาว์ เก่งชน” ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า คาดว่า NPL ในสิ้นปีนี้ น่าจะทะลุ 3% และปี 2563 น่าจะอยู่ที่ระดับ 3% แม้จะมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปี 2563 จะมีแนวโน้มดีกว่าปีนี้ แต่การแก้ NPL ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู โดยจากการติดตามก็พบว่า กลุ่มเอสเอ็มอี กลุ่มสินเชื่อบ้าน กลุ่มสินเชื่อรถยนต์ กลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิต และกลุ่มสินเชื่อบุคคลมี NPL เพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่เผชิญการแข่งขันสูง เช่น กลุ่มค้าส่ง กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มโรงแรม/อพาร์ตเมนต์ ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี รวมถึงมีประเด็นเรื่องของการแข่งขัน ส่วนกลุ่มส่งออก เนื่องจากส่วนมากจะเป็นธุรกิจรายใหญ่ ผลกระทบจึงอยู่กับธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) แทน

ขณะที่ “นริศ สถาผลเดชา” ผู้บริหาร TMB Analytics เปิดเผยว่า เมื่อเข้าไปดูตัวเลขสัดส่วนเงินสำรองกับหนี้ที่สงสัยว่าจะสูญ (coverage ratio) ของ 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จนถึง ณ สิ้น ก.ย. 2562 พบว่า หากนับเฉพาะ NPL จะเห็นว่า 5 แบงก์ใหญ่มีการตั้งสำรองอยู่ในระดับค่อนข้างสูงตั้งแต่ 128-183% อย่างไรก็ดี เนื่องจากปี 2563 จะเริ่มใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) การตั้งสำรองจะต้องนับ SM เข้ามาด้วย โดยเรียกว่า stage 2 ดังนั้นภาระการตั้งสำรองของแบงก์ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นในปีหน้า

ดังนั้นหากจะดูความพร้อม โดยพิจารณาจาก NPL รวมกับ SM เพื่อให้เป็นไปตามนิยามของ TFRS9 พบว่า สัดส่วนการตั้งสำรองของ 5 แบงก์ใหญ่ จะเหลืออยู่ที่ระดับ 67.9-118.1%

“ปีหน้าจะเป็นปีที่แบงก์ยังคงมีภาระตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะนี้แนวโน้ม NPL อยู่ในวัฏจักรขาขึ้น ขณะที่ TFRS9 ต้องคิด coverage ratio รวมระหว่าง NPL กับ SM ดังนั้น ตอนนี้ถ้าแบงก์ไหนตั้งสำรองไว้สูง ปีหน้าผลกระทบจาก TFRS9 ก็จะน้อย แต่ในทางกลับกัน แบงก์ที่ตั้งยังไม่เพียงพอก็จะเป็นภาระในปีหน้าอีก” นายนริศกล่าว


นับเป็นโจทย์ใหญ่และยากของธุรกิจแบงก์ ในการจะฝ่ามรสุมหนี้ด้อยคุณภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า