ค่าเงินบาทแกว่งในกรอบแคบ หลังการเจรจาระหว่างจีน-สหรัฐยังไร้ทิศทาง

แฟ้มภาพ
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายน 2562 สำหรับค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (18/11) ที่ระดับ 30.25/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (15/11) ที่ระดับ 30.22/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังตลาดคาดการณ์ทิศทางการเจรจาการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ว่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้น ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะปฏิเสธที่จะยกเลิกการปรับเพิ่มภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งจีนเคยมองว่า ทั้งสองฝ่ายเคยตกลงกันในเรื่องนี้ไปแล้ว

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงกดดันหลังวุฒิสภาสหรัฐได้ผ่านร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวครอบคลุมถึงการกำหนดให้ทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับฮ่องกง ภายใต้กฎหมายของสหรัฐ ทุก 1 ปี โดยการทบทวนดังกล่าวจะพิจารณาถึงประเด็นที่ว่า ฮ่องกงได้รับอำนาจในการปกครองตนเองอย่างเพียงพอจากจีนหรือไม่ อีกทั้งร่างกฎหมายยังกำหนดให้มีการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบในการทำลายเสรีภาพขั้นพื้นฐานและการปกครองตนเองในฮ่องกง และประธานาธิบดี ทรัมป์ สามารถลงนามผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวได้ ซึ่งนักลงทุนมีความกังวลว่าการอนุมัติและบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีน โดยเฉพาะการทำข้อตกลงทางการค้าที่เป็นประเด็นอยู่ในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกันคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมกำหนดนโยบายทางการเงินประจำวันที่ 29-30 ตุลาคม โดยระบุว่ากรรมการเฟดส่วนใหญ่มีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ และยังมองว่าความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากความตึงเครียดด้านการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์นั้น เริ่มลดน้อยลงในระดับหนึ่ง พร้อมกับได้มีการหารือเกี่ยวกับเครื่องมือต่าง ๆ ที่ควรเตรียมไว้หากเศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยในวันข้างหน้า โดยกรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า การเข้าซื้อพันธบัตร และการส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายในอนาคตนั้น จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ดี กรรมการเฟดทุกท่านไม่เห็นด้วยกับการลดอัตราดอกเบี้ยจนถึงระดับติดลบ เหมือนกับที่ธนาคารกลางยุโรป และญี่ปุ่นได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับปัจจัยในประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในไตรมาส 3/62 ขยายตัว 2.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยขยายตัว 0.1% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 2.6% พร้อมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 62 จากเดิมที่คาดว่าจะโต 2.7-3.2% เหลือ 2.6% และคาดว่าส่งออกจะหดตัวเพิ่มขึ้น 2% จาก 1.2%

อีกทั้งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 91.2 ปรับตัวลดลงจาก 92.1 ในเดือน ก.ย. 62 โดยผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลกำลังซื้อในส่วนภูมิภาคที่ยังชะลอตัว และผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาด้านการเงิน เนื่องจากสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมทั้งสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังคงยืดเยื้อ ทั้งนี้ค่าเงินบาทมีกรอบเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.16-30.27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (22/11) ที่ 30.17/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (18/11) ที่ระดับ 1.1058/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/11) ที่ระดับ 1.1020/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรและปอนด์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยได้แรงหนุนจากสกุลเงินที่ผูกพันกับการค้า หลังตลาดคาดการณ์ในทางบวกต่อการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐ ก่อนที่จะปรับตัวแข็งค่าจากความเห็นของประธานาธิดบีทรัมป์ของสหรัฐ ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เตือนว่า ปัญหาท้าทายด้านเสถียรภาพทางการเงินของยูโรโซนนั้นยังคงดำเนินอยู่ จึงมีความจำเป็นที่ประเทศต่าง ๆ ต้องคอยเฝ้าระวัง และนำเครื่องมือลดความเสี่ยงเชิงระบบมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

(ECB) เปิดเผยในรายงานทบทวนเสถียรภาพทางการเงิน (FSR) ว่าเมื่อพิจารณาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงและความเสี่ยงในเรื่องเศรษฐกิจขาลงของยูโรโซนแล้วพบว่า นักลงทุนยังมองหาการสร้างผลตอบแทนในสภาวะแวดล้อมที่มีอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำอยู่ และขณะเดียวกันก็สัญญาณบ่งชี้ถึงปัญหาหนี้สินและการลงทุนในที่มีความเสี่ยงมากเกินไป ซึ่ง ECB เตือนว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังและตั้งเป้าดำเนินการเพื่อป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบให้รัดกุม ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1047-1.1097 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (22/11) ที่ระดับ 1.1051/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (18/11) เปิดตลาดที่ระดับ 108.80/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/11) ที่ระดับ 108.66/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนเทขายเงินเยน
ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมีความคืบหน้าในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงระหว่างสัปดาห์ อีกทั้งกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานเบื้องต้นว่า ญี่ปุ่นเกินดุลการค้ามูลค่า 1.73 หมื่นล้านเยน หรือประมาณ 159 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน ต.ค

รายงานของกระทรวงยังระบุว่า ยอดส่งออกในเดือน ต.ค. ลดลง 9.2% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 14.8% ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าตลอดสัปดาห์จากแรงเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยขณะที่นักลงทุนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับประเด็นของข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์เคลื่อนไหวระหว่าง 108.25-109.07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (22/11) ที่ระดับ 108.54/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ