โมเดลธุรกิจใหม่ KBANK ดึง “ธนา โพธิกำจร” ปั๊มสินเชื่อผ่านไลน์

สัมภาษณ์

เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา สำหรับ “ธนา โพธิกำจร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด ผู้บริหารใหม่มือดีที่เพิ่งย้ายข้ามห้วยมาจากธนาคารไทยพาณิชย์ ที่พ่วงประสบการณ์ทำงานด้านดิจิทัลแบงกิ้งกว่า 7 ปี และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีมาจากซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) แถมด้วยรางวัล “Digital Banker of the Year 2018” จากนิตยสารการเงิน The Asset มาเป็นหัวหอกขับเคลื่อนธุรกิจโมเดลใหม่ให้กับค่ายธนาคารกสิกรไทย (KBank)

ทั้งนี้ บริษัท กสิกร ไลน์ เกิดขึ้นจากการร่วมทุนของธนาคารกสิกรไทย ที่ลงทุนผ่านบริษัท กสิกร วิชั่น (K Vision) กับทางบริษัท ไลน์ คอร์ป ที่ลงทุนผ่านบริษัท ไลน์ ไฟแนนเชียล เอเชีย ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 2,200 ล้านบาท

“ธนา” ฉายภาพว่า บริษัท กสิกร ไลน์ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และนำเสนอบริการทางการเงินผ่านแอปพลิเคชั่น LINE เช่น การทำธุรกรรมทางการเงิน บริการสินเชื่อ ประกัน และการลงทุน เป็นต้น จากเดิมก่อนหน้านี้ LINE จะมีการจับมือกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ สถาบันการเงินในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินโดนีเซีย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าของ LINE เป็นหลัก

ทั้งนี้ กสิกร ไลน์ ได้เปิดตัวบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่จะให้บริการผ่าน LINE ภายใต้แบรนด์ “LINE BK” (ไลน์ บีเค) โดยจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ในปี 2563 เฟสแรกเริ่มจากบริการสินเชื่อส่วนบุคคล (P Loan) ที่ได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งลูกค้าที่มีบัญชีของธนาคารกสิกรไทยอยู่แล้ว สามารถขอสินเชื่อบุคคลกับไลน์ บีเคได้ทันทีที่เปิดให้บริการ ขณะที่ลูกค้าใหม่สามารถเปิดบัญชีเงินฝากกับไลน์ บีเคเพื่อใช้บริการสินเชื่อได้

“คาดว่าการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นเฟสแรกจะเปิดให้บริการในช่วงกลางปี 2563 โดยเราตั้งใจอยากให้ผู้ใช้ LINE ทุกคนเข้ามาใช้ได้โดยเรามีวงเงินที่พร้อมรองรับยามที่เขาต้องการ แต่รูปแบบจะเป็นอย่างไรเราก็ต้องไปวาดภาพและดีไซน์มันออกมาให้เข้ากับกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งนี้ เราอยากเป็นช่องทางการขอสินเชื่อที่สะดวกสบายให้แก่คนทุกกลุ่ม แต่จะเน้นจับลูกค้ากลุ่ม “underbanked” หรือกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อของธนาคาร เช่น กลุ่มอาชีพอิสระเป็นหลัก” นายธนากล่าว

โดย “ธนา” ยอมรับว่า การปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้ากลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อของธนาคาร อาจมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะลูกค้าที่ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีหลักฐานทางการเงินอย่างใบแจ้งเงินเดือน (payslip) บริษัทจึงต้องอาศัยการทำความเข้าใจความเสี่ยงของลูกค้า และหาวิธีประเมินความเสี่ยงของลูกค้าให้ได้มากที่สุดผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ด้วย data analytics ซึ่งบริษัทได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้บริการบน LINE เช่น สามารถระบุได้ว่าลูกค้านิยมอ่านข่าวเมื่อเข้าใช้ LINE เป็นต้น

นอกจากนี้ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลของไลน์ บีเค จะแตกต่างกันไปตามความเสี่ยงของลูกค้า โดยลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ในทางกลับกัน ลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง อัตราดอกเบี้ยก็จะสูงขึ้นเช่นกัน โดยอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในกรอบไม่เกิน 28% ตามที่ ธปท.กำหนด ขณะที่กระบวนการติดตามหนี้จะเป็นไปตามเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนดเช่นกัน ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อของไลน์ บีเคจะแยกจากสินเชื่อของธนาคารกสิกรไทยที่ปีหน้าตั้งเป้าสินเชื่อดิจิทัลไว้ 1 แสนล้านบาท โดยตั้งสำรองหนี้แยกจากกันด้วย

“การปล่อยสินเชื่อเฟสแรก ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าได้หลักล้านรายภายในปีแรก จากฐานลูกค้าผู้ใช้ LINE ปัจจุบัน 44 ล้านบัญชี และฐานลูกค้าของธนาคารกสิกรไทย 16.9 ล้านบัญชี ภายในระยะเวลา 5 ปี ตั้งเป้าว่าไลน์ บีเคจะสามารถเป็นผู้นำในการปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้” นายธนากล่าว

ส่วนสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่ปล่อยให้แก่ลูกค้าธุรกิจ จะเป็นเฟสต่อไปที่ไลน์ บีเคจะดำเนินการ เพราะต้องศึกษาทำความเข้าใจข้อมูลและประเมินความเสี่ยงลูกค้าให้ดีก่อน เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการปล่อยสินเชื่อ

“ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว มักจะเป็นลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยอยู่แล้ว เนื่องจากธนาคารกสิกรไทยมีความเชี่ยวชาญในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดเล็ก (SSMEs) ซึ่งไลน์ บีเคจะนำข้อมูลจากธนาคารมาทำความเข้าใจและประเมินความเสี่ยงของลูกค้าธุรกิจ เพื่อปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ต่อไป” นายธนากล่าว

นี่เป็นอีกโมเดลธุรกิจที่ธนาคารกสิกรไทยใช้รุกสินเชื่อดิจิทัล (digital lending) ซึ่งอาจจะประสบความสำเร็จได้มากกว่าการจับมือกับพันธมิตรในรูปแบบอื่นก็ได้ คงต้องติดตามกันต่อไป