PORT ย้ายกระดานเทรด SET วันนี้ หวังเพิ่มสภาพคล่องหลักทรัพย์-ลดข้อจำกัด นลท.เข้าเทรด

สหไทย เทอร์มินอล หรือ PORT ผู้ให้บริการท่าเทียบเรือและโลจิสติกส์แบบครบวงจร ตอกย้ำพื้นฐานแข็งแกร่ง ขยายกิจการต่อเนื่อง ย้ายเข้าเทรดใน SET วันนี้ เดินหน้าลงทุนท่าเรือที่ 3 และคลังสินค้า มั่นใจลุยผ่านมรสุมเทรดวอร์

นางเสาวคุณ ครุจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) หรือ PORT กล่าวว่า บริษัทฯมีความยินดีที่ได้ย้ายเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันนี้ จากเดิมที่จดทะเบียนในตลาด mai มาตั้งแต่ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 โดยคาดว่าจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับหลักทรัพย์ ลดข้อจํากัดในการเข้าลงทุนของนักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศ และเพิ่มเสถียรภาพให้กับบริษัทและหุ้นของบริษัทฯมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นทุกราย

ทั้งนี้ PORT เป็น หนึ่งในผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นบริษัทฯเดียวในตลาดหลักทรัพย์ฯที่ให้บริการท่าเรือเชิงพานิชย์แบบครบวงจร โดยบริษัทฯได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา เราได้พัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่องจนเป็นผู้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร ทำให้เราได้รับความไว้วางใจจากสายเรือชั้นนำหลายสายที่เข้ามาเป็นทั้งลูกค้าและหุ้นส่วนทางธุรกิจ

นายบัญชัย ครุจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PORT กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายต้องการเป็นผู้ให้บริการนวัตกรรมโลจิสติกส์โซลูชั่นในประเทศที่ลูกค้าเลือกเป็นลำดับแรก ด้วยกลยุทธหลัก คือ 1. เติบโตไปพร้อมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ดังที่ผ่านมาเราได้ขยายธุรกิจไปพร้อมกับลูกค้าและคู่ค้า เพื่อการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน 2. เน้นการนำนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามามีส่วนช่วยในการให้บริการ โดยเมื่อไม่นานมานี้ทางบริษัทฯได้เริ่มทดลองเทคโนโลยีการอ่านตู้สินค้าอัตโนมัติ หรือ OCR (Optical Character Recognition) มีหลักการทำงานคือใช้กล้องวงจรปิดช่วยในการอ่านหมายเลข ตู้สินค้าที่ผ่านเข้าออกท่าเรือ และแปลงภาพถ่ายเลขตู้สินค้าเป็นข้อมูลเพื่อนำเข้าระบบ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลา ลดขั้นตอนในการบันทึกข้อมูล เพิ่มความคล่องตัวในการให้บริการ

และยังได้มีการลงนามเป็นผู้ร่วมทดลองการใช้ระบบเทรดเลนส์ (TradeLens) โดยความร่วมมือของบริษัท เอ.พี.มอลเลอร์-เมอส์ก และไอบีเอ็ม การตรวจปล่อยสินค้าล่วงหน้าจากข้อมูลบนแพลตฟอร์มเทรดเลนส์ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ได้ โดยทุกฝ่ายจะทราบข้อมูลสินค้าตั้งแต่เรือออกจากประเทศต้นทางจนถึงปลายทางได้แบบเรียลไทม์ และสุดท้ายคือการพัฒนาด้านบุคลากรของบริษัทฯเพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อยกระบบองค์กร

ส่วนความคืบหน้าโครงการลงทุน “โครงการขยายธุรกิจท่าเรือและโลจิสติกส์ แบบครบวงจร เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้ธุรกิจของบริษัทโดยการลงทุนสร้างท่าเรือพาณิชย์แห่งที่ 3 ผ่านการลงทุนใน บริษัท บางกอก ริเวอร์ เทอร์มินอล จำกัด (BRT) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 ซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการให้บริการท่าเรือได้อีกประมาณ 180,000 TEUs/ปี รวมกับความสามารถในการให้บริการเดิมของ บริษัทฯ และบริษัทย่อยเป็น 920,000 TEUs/ปี หรือเพิ่มขึ้นราว 24%

และโครงการขยายศูนย์กระจายสินค้าต่อยอดธุรกิจ ก้าวสู่การเป็นผู้นำการให้บริการ โลจิสติกส์แบบครบวงจร โดยลงทุนใน บริษัท บางกอก โลจิสติกส์ พาร์ค จำกัด (BLP) เพื่อพัฒนา และบริหารโครงการ โลจิสติกส์พาร์ค หรือศูนย์กระจายสินค้าบนพื้นที่กว่า 50 ไร่ ในเขตพื้นที่ขอบเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2563 และจะเข้ามามีส่วนช่วยให้ปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรือเติบโตขึ้น


“สำหรับปี 2563 ทางบริษัทฯคาดการณ์ว่าภาวะการนำเข้าส่งออก อาจจะยังเป็นปัจจัยที่ท้าทายสำหรับฝ่ายบริหาร แต่อย่างไรก็ตามทางบริษัทฯก็ได้มีการจัดการภายในเพื่อเสริมความแข็งแกร่งและคล่องตัว ทำให้มั่นใจว่าบริษัทฯมีความพร้อมในการแข่งขัน” นายบัญชัยกล่าว