“สภาพัฒน์” เปิดปมเศรษฐกิจชะลอตัว Q3/62 “ว่างงานเพิ่ม-หนี้ครัวเรือนพุ่ง”

จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยชะลอตัวต่อเนื่อง เริ่มส่งผลกระทบต่อภาวะสังคมของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหา “ว่างงาน” หรือถูกลดค่าล่วงเวลา (โอที) ไปจนถึงการก่อหนี้เพิ่มของภาคครัวเรือน โดยล่าสุดสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สภาพัฒน์” ได้เปิดเผยรายงานภาวะสังคมของไทยไตรมาส 3/2562 ซึ่งก็พบว่ามีการจ้างงานลดลงตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

จ้างงานนอกภาคเกษตร ลดลง 2.3%

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยว่า ไตรมาส 3/2562 ผู้มีงานทำลดลง 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมี 38.7 ล้านคน มาอยู่ที่ 38 ล้านคน ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการหดตัวของการส่งออก รวมถึงปัญหาภัยธรรมชาติ

โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตร ลดลง 2.3% จาก 25.5 ล้านคนมาอยู่ที่ 24.9 ล้านคน เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ5 ไตรมาส ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการหดตัวของการส่งออก โดยสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาการผลิต สาขาการขายส่ง/ขายปลีก และสาขาก่อสร้าง ลดลง 5.2% 4.1% และ 2.2% ตามลำดับ ขณะที่สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร และสาขาการขนส่ง/คลังสินค้า เพิ่มขึ้น 3.1% และ 1.0% ตามลำดับจากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมาก

การจ้างงานภาคเกษตร ลดลง 1.8% จาก 12.8 ล้านคน มาอยู่ที่ 12.6 ล้านคน เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 จากปัญหาภัยธรรมชาติ

จบปริญญาตรีตกงานมากสุด

สภาพัฒน์รายงานอัตราการว่างงานไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 1.04% หรือ 3.94 แสนคน เพิ่มขึ้น 5.5% โดยอัตราวางงานที่เพิ่มขึ้นมาจากทั้งผู้ที่เคยทำงานมาก่อน เพิ่มขึ้น 8.4% สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม ที่พบว่า ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย ณ วันสิ้นไตรมาส 3/2562 มีจำานวน 172,412 คน เพิ่มขึ้น 13.5% และกลุ่มผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน เพิ่มขึ้น 3.0% ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผู้จบการศึกษาใหม่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน

โดยพบว่าผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุด 2.15% รองลงมาเป็นผู้จบอาชีวศึกษา วิชาชีพชั้นสูง มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า นอกจากนี้ พบว่าอัตราว่างงานผู้จบระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น มีอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ขณะที่สภาพัฒน์มองว่า แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจยังไม่ปรากฏผลกระทบต่อตลาดแรงงานในไตรมาส 4/2562 มากนัก เพราะภาพรวมชั่วโมงการทำงานไตรมาส 3 เฉลี่ยยังทรงตัวอยู่ที่ 43.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อัตราการว่างงานเฉพาะเดือน ต.ค.ที่ผ่านมายังอยู่ในระดับต่ำกว่า 0.9% คิดเป็นผู้ว่างงาน 3.55 แสนคนแต่ยังคงติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างอย่างใกล้ชิดรวมทั้งการติดตามตรวจสอบให้แรงงานได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อแรงงาน อาทิ การขอความร่วมมือสถานประกอบการใช้แนวทางชะลอการเลิกจ้างเป็นลำดับ เช่น การลดชั่วโมง/วันทำงานลง, การหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75, การสมัครใจลาออก และการเลิกจ้างควรเป็นแนวทางสุดท้าย รวมทั้งมาตรการในการเพิ่ม/ปรับเปลี่ยนทักษะแรงงานให้สามารถทำางานที่แตกต่างไปจากเดิม หรือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพใหม่ได้

ขอชดเชยว่างงานสูงสุดตั้งแต่ปี”52

ขณะที่รายงานของสภาพัฒน์ระบุว่า มีสัญญาณของผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตามประกอบด้วย

1) ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็น 1.5% ของจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สูงที่สุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2552 ที่มีสัดส่วน 2.2%

2) ติดตามคำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศ ที่ปรับตัวลดลง โดยดัชนีภาวะธุรกิจในคำสั่งซื้อในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก

ธุรกิจแห่ “ลดเวลาทำงาน-เลิกจ้าง”

3) การทำงานล่วงเวลา (โอที) ลดลง พบว่าไตรมาส 3/2562 จำนวนผู้มีงานทำมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไปลดลง 7.9% เป็นการลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4/2559

และอีกเรื่องที่ต้องติดตาม คือ 4) สถานประกอบการมีการขอใช้มาตรา 75 (ที่กำหนดให้สถานประกอบการสามารถหยุดงานชั่วคราวโดยจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 75% ของค่าจ้าง) โดยไตรมาส 3/2562 จำนวนแรงงานที่โดนผลกระทบทั้งสิ้นเป็น 48,015 คน จากสถานประกอบการ 93 แห่งทั่วประเทศ โดยแบ่งหยุดกิจการบางส่วน 21,297 คน และหยุดกิจการทั้งหมดจำนวน 26,718 คน

โดยพบว่าจำนวนสถานประกอบการที่ขอใช้มาตรา 75 ในไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 93 บริษัท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่มีจำนวน 47 บริษัท และไตรมาส 2 จำนวน 50 บริษัท

หนี้ครัวเรือนขยายตัว 5.8%

ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2/2562 มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.8% ซึ่งชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 6.3% ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์และรถยนต์เป็นหลัก ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่ที่ 78.7% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ชะลอตัวลงเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน ส่งผลให้ระดับสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพียังคงเท่ากับไตรมาสก่อน โดยพบว่าหนี้ครัวเรือนที่มาจากสถาบันรับฝากเงินเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ขณะที่หนี้ครัวเรือนจากสถาบันการเงินอื่นยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งต่อเนื่อง

สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์และซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ปรับตัวชะลอลง ขณะที่สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยจากข้อมูลยอดคงค้างสินเชื่อเฉพาะธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในไตรมาส 2/2562 สะท้อนว่า สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งมีสัดส่วนสูงสุดของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง โดยขยายตัว 7.8% ชะลอลงจาก 9.1% ในไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ อยู่ที่ 10.2% ชะลอลงจาก 11.4% ขณะที่สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.8% เทียบกับ 11.3% ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น

และที่ต้องจับตา คือ ปัญหาคุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ต้อง “เฝ้าระวัง” เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อหลายประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/2562 มีมูลค่า 133,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2.81% ต่อสินเชื่อรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 2.74% ในไตรมาส 2/2562