ก.ล.ต.ประกาศเกณฑ์ค่าฟีใหม่ รื้อสูตรคิดเรตธุรกิจตัวกลางเริ่ม 1 ม.ค.

ก.ล.ต.รื้อเกณฑ์เก็บค่าฟีผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางใหม่ ดีเดย์บังคับใช้ 1 ม.ค. 63 หันเก็บอิงปริมาณธุรกรรมจากเดิมคิดจากรายได้/กำไรบริษัท ตีกรอบเพดานไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ขั้นต่ำ 2.5 หมื่นบาท เพิ่มเก็บค่าธรรมเนียมตัวกลางซื้อขาย “ตราสารหนี้-ประกันยูนิตลิงก์” จากเดิมไม่เก็บ หวังสร้างความเท่าเทียม-ลดความยุ่งยาก-หนุน ease of doing business

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกประกาศกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต โดยได้ปรับปรุงเกณฑ์การกำหนดค่าธรรมเนียมผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ กับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กับตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) โดยจะมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 63 เป็นต้นไป

นางจารุพรรณ อินทรรุ่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยว่า เนื่องจากยังมีประเด็นความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกัน แต่ลักษณะของบริษัทแตกต่างกัน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กับธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น ก.ล.ต.จึงกำหนดค่าธรรมเนียมในอัตราที่เท่ากัน และจัดเก็บเพิ่มเติมในธุรกิจบางประเภทที่เดิมไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ได้แก่ ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทตราสารแห่งหนี้ และธุรกิจนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนที่ขายประกันชีวิตควบหน่วยลงทุน (ยูนิตลิงก์) เพื่อให้สอดคล้องกับภาระในการกำกับดูแล

ขณะเดียวกันเพื่อคำนึงถึงความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business) จึงมีการปรับปรุงวิธีการเก็บค่าธรรมเนียม จากเดิมที่มีรูปแบบค่อนข้างหลากหลาย สร้างภาระให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องเก็บข้อมูล เพื่อนำมาคำนวณ ก.ล.ต.จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจชำระค่าธรรมเนียมโดยอิงจากปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด จากเดิมอิงจากรายได้ หรือกำไรของบริษัท เพื่อให้สอดคล้องกับภาระในการกำกับดูแล ที่แปรผันตามปริมาณธุรกิจ ทั้งนี้ กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำไว้ที่ 25,000 บาท และเพดานสูงสุดไว้ที่ 10 ล้านบาท/ปี (ยกเว้นธุรกิจตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ไม่เกิน 1 ล้านบาท/ปี)

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้การชำระค่าธรรมเนียม เพียงครั้งเดียวในช่วงต้นปี จากเดิมที่แบ่งเป็น 2 งวด ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาระในการชำระค่าธรรมเนียมหลายครั้ง

“ก.ล.ต.ไม่ได้มุ่งทำรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียม โดยมีหลักการว่าการเก็บค่าธรรมเนียมของ ก.ล.ต.จะต้องมีความเหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของภาคธุรกิจ ดังนั้น อัตราค่าธรรมเนียมที่เราเก็บ จะต้องยังทำให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันได้ รวมทั้งสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศได้ด้วย” นางจารุพรรณกล่าว

ทั้งนี้ จากรายงานงบการเงินของ ก.ล.ต. ในปี 2557 มีรายได้ค่าธรรมเนียมอยู่ที่กว่า 744 ล้านบาท ปี 2558 อยู่ที่กว่า 835 ล้านบาท ปี 2559 อยู่ที่กว่า 811 ล้านบาท ปี 2560 อยู่ที่กว่า 802 ล้านบาท และปี 2561 อยู่ที่กว่า 805 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุนกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก.ล.ต.ปรับวิธีคำนวณค่าธรรมเนียมให้เหมือนธุรกิจนายหน้า คือใช้อัตรา 0.001% ของมูลค่าการซื้อขาย จากเดิมการคิดค่าธรรมเนียมจากธุรกิจค้าหลักทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์จัดการการลงทุนหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ จะคำนวณจากฐานรายได้หรือกำไรของบริษัท และมีทั้งอัตรา 0.001% และ 1% ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก ดังนั้น เพื่อให้เกิด ease of doing business จึงปรับให้คิดเหมือนกัน

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า เท่าที่พิจารณาดูแล้วเกณฑ์ค่าธรรมเนียมใหม่ ไม่ได้ส่งผลให้ บล.มีภาระค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น โดยมีการเก็บอัตราค่าธรรมเนียมในระดับที่ใกล้เคียงจากเดิม เพียงแต่มีการปรับรูปแบบการคิดคำนวณให้ง่ายขึ้น และกำหนดเพดานสูงสุดที่จะเก็บได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ทำให้ไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมเกินความจำเป็น