ค่าเงินบาทแกว่งในกรอบแคบ จับตาเจรจาการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2562 สำหรับค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (25/11) ที่ระดับ 30.18/20 บาท/ดอลลารสหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ 22/11) ที่ระดับ 30.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.9 ในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 50.9 ในเดือน ต.ค. ในวันอังคาร (26/11) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผย ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐลดลง 5.7% สู่ระดับ 6.65 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน ต.ค. โดยการส่งออกสินค้าลดลง 0.7% หลังจากลดลง 1.3% ในเดือน ก.ย. จากการส่งออกอาหารและรถยนต์ที่ปรับตัวลง ส่วนการนำเข้าสินค้าปรับตัวลง 2.4% หลังจากลดลง 2.1% ในเดือน ก.ย. ในวันพุธ (27/11) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐ ปรับขึ้น 2.1% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualized) โดยทวีความเร็วขึ้นจากอัตรา 2.0% ในไตรมาส 2 และสูงกว่าตัวเลขประเมินขั้นต้นที่ 1.9% สำหรับไตรมาส 3

ทั้งนี้ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ได้รับแรงหนุนจากการปรับทบทวนตัวเลขปริมาณสต๊อกสินค้าคงคลังให้สูงขึ้น และได้รับแรงหนุนจากการปรับทบทวนตัวเลขการลงทุนทางธุรกิจด้วย โดยทางกระทรวงระบุว่า สต๊อกสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นในอัตรา 7.98 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขขัั้นต้นที่ 6.90 หมื่นล้านดอลลาร์ที่เคยรายงานไว้ในเดือนที่แล้ว ทางด้านการลงทุนทางธุรกิจร่วงลงเพียง 2.7% ในไตรมาส 3 โดยเทียบกับตัวเลขประเมินขั้นต้นที่ -3.0% อีกทั้งกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกปรับตัวลง 15,000 ราย สู่ 213,000 อย่างไรก็ดี แนวโน้มพื้นฐานบ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานอ่อนแอลง ในขณะที่ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเคลื่อนตัวอยู่ใกล้จุดสูงสุดรอบ 5 เดือนในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามนักลงทุนมุ่งความสนใจไปยังประเด็นที่ว่า จีนจะแสดงปฏิกิริยาเช่นใดต่อการที่สหรัฐให้การสนับสนุนการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในฮ่องกง เพราะปัจจัยนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาต่อรองเพื่อยุติสงครามการค้า

สำหรับปัจจัยในประเทศ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มองแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนในระยะต่อไปมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเงินบาทแข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค และยอมรับว่าค่าเงินบาทแข็งค่าเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานของประเทศแล้ว ซึ่งสถานการณ์ต่างประเทศเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นต้องการให้ภาคเอกชนบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้ดี ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 อาจเติบโตได้ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ แต่ยังมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 ว่าจะดีขึ้นกว่าปีนี้

นอกจากนี้นายวิรไทยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เพราะฉะนั้นโอกาสความเป็นไปได้ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นค่อนข้างต่ำ ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค. 62 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.45% มาอยู่ที่ระดับ 95.70 จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกและการค้าที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ดัชนี MPI ที่หดตัวลงมาจากอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี ได้แก่รถยนต์และเครื่องยนต์, น้ำมันปิโตรเลียม, เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน, ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และการแปรรูป-ถนอมผักและผลไม้ เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของดัชนี MPI ในปี 63 คาดว่าจะฟื้นตัวมาเติบโต 2-3% ขณะที่ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะเติบโต 1.5-2.5% จากปีนี้ จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และนักลงทุนย้ายฐานการผลิตมาลงทุนในประเทศไทย ล่าสุดบ่ายวันศุกร์ (29/11) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ต.ค.เกินดุล 2.91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับที่เกินดุล 3.53 พันล้านดอลลาร์ ใน ก.ย. มูลค่าการส่งออกใน ต.ค. ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าลดลง 9.2% ส่งผลให้มียอดเกินดุลการค้า 2.09 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ค่าเงินบาทมีกรอบเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.19-30.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (29/11) ที่ 30.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (25/11) ที่ระดับ 1.1023/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/11) ที่ระดับ 1.1060/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงหลังผลสำรวจพบว่ากิจกรรมทางธุรกิจในยูโรโซนยังคงชะลอตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 50.6 จุด ในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ 50.9 จุดในเดือนตุลาคม และต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 51.0 จุด ขณะที่ผลการสำรวจโดยบริษัทวิจัย GfK ระบุว่า ดัชนีบ่งชี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเยอรมนีสำหรับเดือน ธ.ค. ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 9.7 จากระดับ 9.6 ในเดือน พ.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 9.6

อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นยังคงถูกกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งความไม่แน่นอนของการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ทั้งนี้ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.0990-1.1032 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโรและปิดตลาดในวันศุกร์ (29.11) ที่ระดับ 1.1008/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (25/22) เปิดตลาดที่ระดับ 108.79/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/11) ที่ระดับ 108.52/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนปรับลดการถือครองเงินเยนในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ภายหลังจากการรายงานเชิงบวกเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน นอกจากนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดการคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่น สำหรับปี 2562 เหลือเพียงแค่ 0.8% จากระดับ 0.9% และสำหรับปี 2563 ได้ปรับลดการคาดการณ์ลงสู่ระดับ 0.5% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์เคลื่อนไหวระหว่าง 108.62-109.60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (29/11) ที่ระดับ 109.49/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ