เศรษฐกิจซบสินเชื่อธุรกิจหด แบงก์ดิ้นแข่งปล่อยรายย่อย

ภาพบัตรเครดิต
โค้งสุดท้ายแบงก์แข่งปล่อยกู้รายย่อยดุเดือด “บัตรกดเงินสด-บัตรเครดิต” ดันยอดโตกระฉูด เผยเศรษฐกิจซบเซา-ธุรกิจแห่คืนวงเงินสินเชื่อ ทุบสินเชื่อเดือน ต.ค.ทั้งระบบหดตัวเกือบ 9 หมื่นล้าน แบงก์ดิ้นกระตุ้นกลุ่มสินเชื่อรายย่อยฟัน “ดอกเบี้ยสูง” ปั๊มกำไร “กสิกรฯ-ธนชาต” อัดข้อเสนอพิเศษให้ลูกค้าเปลี่ยนวงเงินที่เหลือในบัตรเครดิตเปลี่ยนเป็น “เงินสด” หวังกระตุ้นใช้จ่าย ศูนย์วิจัยทีเอ็มบีคาดดัน “หนี้ครัวเรือน” ปีหน้ากระฉูดทะลุ 80%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงปลายนี้เริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์มีการอัดแคมเปญกระตุ้นการทำตลาด “สินเชื่อรายย่อย” ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด รวมถึงบัตรเครดิต รวมถึงข้อเสนอเปลี่ยนวงเงินคงเหลือในบัตรเดรดิตเป็นเงินสด (สินเชื่อส่วนบุคคล) อาทิ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่จะส่ง SMS ถึงลูกค้าบัตรเครดิตเสนอบริการสินเชื่อ K-Smart Cash เพื่อให้เปลี่ยนวงเงินคงเหลือในบัตรเครดิตเป็นเงินสดเข้าบัญชี โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม 3% พร้อมให้ผ่อนสูงสุด 10 เดือน คิดดอกเบี้ย 0.84% ต่อเดือน หรือล่าสุดธนาคารธนชาตเสนอบริการใหม่ให้ผู้ถือบัตรเครดิต หรือบัตรสินเชื่อบุคคลธนชาต FLASH Plus เปลี่ยนวงเงินคงเหลือในบัตร โอนเข้าบัญชีเป็นเงินสดออนไลน์ได้ วงเงินขั้นต่ำ 5,000-500,000 บาท ผ่อนชำระคืนรายเดือนสูงสุด 60 เดือน หรือผ่อนชำระแบบขั้นต่ำ

ขณะที่ในงาน Money Expo 2019 ระหว่าง 28 พ.ย.-1 ธ.ค.นี้ หลายแบงก์ก็จัดโปรโมชั่นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีสินเชื่อ Speedy Cash (บัตรกดเงินสด) อัตราดอกเบี้ย 0% สูงสุด 3 รอบบัญชี และสินเชื่อบุคคลดอกเบี้ย 9.99% ต่อปี 12 เดือนแรก ฟากธนาคารกสิกรไทยก็มีสินเชื่อบุคคลดอกเบี้ยต่ำ 0.70% ต่อเดือน และสินเชื่อเงินสดทันใจดอกเบี้ย 0% นานสูงสุด 90 วัน เป็นต้น

สินเชื่อบุคคลเร่งโตไม่หยุด

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงไตรมาส 4 นี้ ภาพการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์คงจะเน้นสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะ

สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันอย่างสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) หรือบัตรกดเงินสด รวมถึงสินเชื่อบัตรเครดิต เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ กับสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ มีการชำระหนี้คืนค่อนข้างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับภาวะดอกเบี้ยต่ำ ทำให้บริษัทออกหุ้นกู้มาชำระหนี้คืนได้ ซึ่งเป็นแรงกดดันให้แบงก์ต้องหาทางเพิ่มส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ

(NIM) ด้วยการปล่อยสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น

“ตอนนี้ทุกแบงก์ต่างกังวลเรื่อง NIM ลดลง ซึ่งสินเชื่อรายใหญ่กับสินเชื่อเอสเอ็มอีกำไรส่วนต่างดอกเบี้ยต่ำ ดังนั้นจึงมาปล่อยพวกสินเชื่อที่ได้ดอกเบี้ยสูง ๆ โดยเฉพาะสินเชื่อไม่มีหลักประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น” นายนริศกล่าว

โดยทาง TMB ประเมินว่า สินเชื่อไม่มีหลักประกันปีนี้น่าจะอยู่ที่ 1.29 ล้านล้านบาท หรือขยายตัว 12% จากเมื่อไตรมาส 3 โต 11.8% ขณะที่บัตรเครดิตปีนี้น่าจะโต 10% โดยไตรมาส 3 โต 9.9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

“การเติบโตของสินเชื่อไม่มีหลักประกันน่าจะหยุดยาก เพราะการใช้จ่ายครัวเรือนเริ่มตึงตัว จึงน่าจะมีการใช้สินเชื่อประเภทนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง” นายนริศกล่าว

สินเชื่อบ้าน-รถโตชะลอปลายปี

นายนริศกล่าวอีกว่า กรณีจะไปปล่อยสินเชื่อบ้านก็ลำบาก เพราะเจอทั้งมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน (LTV) และภาวะการแข่งขัน โดยคาดว่าไตรมาส 4 สินเชื่อบ้านน่าจะเพิ่มขึ้น 70,000 ล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อบ้านคงค้างสิ้นปีอยู่ที่ราว 2.4 ล้านล้านบาท เนื่องจากมีมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ทั้งมาตรการช่วยค่าเงินดาวน์ 50,000 บาท และมาตรการลดค่าธรรมเนียม

การโอนและค่าจดจำนองที่ออกมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี อัตราเติบโตคงไม่ได้มาก โดยคาดว่าไตรมาส 4 สินเชื่อบ้านจะโตได้ 7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

“มาตรการกระตุ้นไม่ได้ทำให้สินเชื่อบ้านปีนี้โตขึ้นได้มาก แต่ก็ไม่ได้แย่ เพราะหากไม่มีมาตรการอาจจะโตได้แค่ 5% เท่านั้น” นายนริศกล่าว

ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง แม้ว่าไตรมาส 4 จะมีงานมอเตอร์เอ็กซ์โป คาดว่าจะหนุนให้สินเชื่อโต 8.5% ด้วยยอดสินเชื่อคงค้าง 1.16 ล้านล้านบาท ซึ่งขยายตัวลดลงจากไตรมาส 3 ที่โต 9.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

หนี้ครัวเรือนปีหน้าทะลุ 80%

นายนริศกล่าวด้วยว่า สินเชื่อบ้านกับสินเชื่อรถยนต์ที่เป็นสินเชื่อมีหลักประกัน ถือว่าไม่ค่อยน่าห่วงมาก แต่สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งพอร์ตก็มีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ค่อนข้างน่ากังวล ที่ผ่านมาจึงได้เห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเตือนให้แบงก์พิจารณาปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น และส่งสัญญาณถึงการจะนำเกณฑ์หนี้สินต่อรายได้ (DSR) ที่เข้มข้นขึ้น

“สินเชื่อรายย่อยปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ 8% หลังจากไตรมาส 3 โตอยู่ที่ 8.7% ชะลอลงจากสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ แต่ภาพรวมก็ถือว่าสินเชื่อรายย่อยปีนี้ยังเติบโตสูง ซึ่งจะส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีโอกาสที่ปี 2563 ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะไปถึง 80% หรือเกินกว่านั้นได้ เนื่องจากภาระหนี้ยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจก็ชะลอลง” นายนริศกล่าว

ศก.ซบธุรกิจแห่คืนสินเชื่อ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ในเดือน ต.ค. 2562 สินเชื่อสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 8.77 หมื่นล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการชำระคืนสินเชื่อของภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และรัฐบาล อย่างไรก็ดี สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อไม่มีหลักประกันอื่น ๆ ยังขยายตัวสูง รวมทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถและสินเชื่อบ้านที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเช่นกัน แม้จะเป็นอัตรา

ที่ช้าลง โดยสินเชื่อคงค้างสุทธิ ณ เดือน ต.ค. 2562 อยู่ที่ 11.702 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นอัตราเติบโตต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี สอดคล้องกับสัญญาณอ่อนแอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัวของความต้องการในการเบิกใช้สินเชื่อ

สำหรับแนวโน้มสินเชื่อในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลน่าจะยังขยายตัวสูง และน่าจะมีภาคธุรกิจบางส่วนทยอยเบิกใช้สินเชื่อระยะสั้นเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน แต่เนื่องจากสินเชื่อในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้มาก ประกอบกับภาพเศรษฐกิจปีหน้ายังไม่มีปัจจัยสนับสนุนที่เด่นชัด ทำให้คาดว่าความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจและเอสเอ็มอีปีนี้ จะขยายตัวในกรอบที่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ 4%

เตือนระวังคุณภาพสินเชื่อ

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีประเด็นเรื่องคุณภาพสินเชื่อที่แบงก์ต้องคำนึงถึงค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน ธนาคารก็รับรู้ข้อกังวลของ ธปท. ในเรื่องการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ แม้ว่า DSR จะยังไม่ได้บังคับใช้ ดังนั้น ผู้ปล่อยสินเชื่อก็ต้องระมัดระวัง อย่างกรณีที่มีการนำวงเงินคงเหลือของบัตรเครดิตมาให้กู้แบบสินเชื่อส่วนบุคคล แบงก์ก็คงจะทำแบบพอดี ๆ เพราะต้องระมัดระวังคุณภาพสินเชื่ออยู่

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปกติช่วงไตรมาส 4

ของสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารจะไม่โตมากนัก โดยเฉพาะเดือน ธ.ค. เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่จ่ายโบนัสให้พนักงาน ทำให้ลูกค้ามีการชำระหนี้คืน แต่บัตรเครดิตน่าจะมียอดการใช้จ่ายเติบโต ซึ่งเป็นปกติที่ไตรมาส 4 จะเป็นช่วงพีกของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ทั้งการชำระค่ากรมธรรม์ประกันชีวิต ซื้อกองทุน LTF และ RMF รวมถึงใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่


นายฐากรกล่าวว่า ปีนี้ยังไม่มั่นใจว่าภาพรวมสินเชื่อบัตรเครดิตจะเติบโตหรือไม่ มีความเสี่ยงจะโตแผ่ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ภาพรวมของสินเชื่อรายย่อยปี 2563 คาดว่าการเติบโตจะชะลอตัว รวมถึงเริ่มเห็นสัญญาณความกังวลเรื่องหนี้เสีย (NPL) ในระบบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น