เศรษฐกิจเดือนตุลาฯชะลอตัวต่อเนื่อง “แบงก์ชาติ” เตรียมรีวิวตัวเลขจีดีพีใหม่ 18 ธ.ค.นี้

แฟ้มภาพ
ธปท.หวั่นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐดึงดีมานด์ในอนาคตมาใช้ เผยเดือน ต.ค.เศรษฐกิจยังชะลอตัว ชี้มีเพียง “บริโภคเอกชน” ขยายตัวอานิสงส์จาก”ชิม ช้อป ใช้” เตรียมรีวิวตัวเลขจีดีพีใหม่ช่วงประชุม กนง. 18 ธ.ค.นี้ ไม่มั่นใจปีนี้จะโตถึง 2.6% ขณะที่สถานการณ์ส่งออกต้องจับตา “ทรัมป์-สี” เจรจาภาษี 15 ธ.ค.นี้

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยช่วงโค้งสุดท้ายไตรมาส 4/62 เชื่อว่ามีโอกาสเติบโตได้ปัจจัยการบริโภคของภาคเอกชนที่ได้มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” มาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายจากรัฐบาลเข้ามาสนับสนุน

โดยตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ต.ค. 62 ชี้ว่า การบริโภคเอกชนปรับขึ้น 1.3% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และปรับขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา (QOQ) อย่างไรก็ตาม ธปท.มีความกังวลว่าการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจเป็นการดึงความต้องการบริโภคในอนาคตมาใช้ ซึ่งจะต้องรอดูตัวเลขการบริโภคเดือน พ.ย.อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการส่งออกจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนการเติบโตเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้าย เนื่องจากการส่งออกที่มีฐานต่ำในปี 2561 และเริ่มเห็นสัญญาณส่งออกในบางหมวดที่เริ่มดีขึ้นในเดือน ต.ค. เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ผลิตภัณฑ์วงจรรวม (IC) และส่วนประกอบรถยนต์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ในวันที่ 15 ธ.ค. 62 หากตกลงกันได้จะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการส่งออก ขณะที่การท่องเที่ยวไตรมาส 4 เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นก็เป็นอีกปัจจัยที่หนุนเศรษฐกิจ

“จากที่ประเมินแนวโน้มปี 2563 เชื่อว่าโอกาสที่เศรษฐกิจจะไถลลงต่ำกว่าที่ผ่านมา น่าจะมีไม่มากแล้ว แต่โอกาสปรับดีขึ้นก็อาจจะไม่เห็นชัดเหมือนในอดีต ก็ต้องลุ้นกันว่าปีนี้จะทำได้ถึง 2.6% หรือไม่ ซึ่งจะมีการรีวิวตัวเลขเศรษฐกิจในการประชุม กนง.18 ธ.ค.นี้” 

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2563 มองว่ายังมีปัจจัยบวกที่จะเข้ามาหนุน ได้แก่ งบประมาณภาครัฐปี 2563 ที่การเบิกจ่ายถูกเลื่อนไปปีหน้า ทิศทางการค้าโลกมีสัญญาณที่ดีขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนที่ได้อานิสงส์จากโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในพื้นที่อีอีซี และการกระตุ้นลงทุนของภาครัฐผ่านมิติต่าง ๆ

ทั้งนี้ ธปท.รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย เดือน ต.ค. 62 พบว่า ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออกหดตัวต่อเนื่องที่ 5% จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่การส่งออกตั้งต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ติดลบ 3% โดยมูลค่าการส่งออกรวม 204,200 ล้านดอลลาร์ มูลค่านำเข้าลดลงในเกือบทุกหมวดสินค้า 9.2% สอดคล้องกับตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวลงเช่นกันที่ 8.5% และ 3.1% ตามลำดับ

ส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาหดตัวตามรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนสูงขึ้นจากเดือนก่อน 1.3% ถือเป็นตัวเลขเศรษฐกิจเดียวที่สามารถขยายตัวได้ ส่วนตัวเลขการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 12.5%

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 0.11% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวที่ 0.44% สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน ต.ค.ลดลงเล็กน้อย จากที่มีแรงงานกลับเข้ามาในภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกิดดุลลดลงตามดุลการค้า และดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์