ธปท.รื้อกรอบเงินเฟ้อรอบ 5 ปี ถกคลังลงตัวเตรียมชง ครม.ภายใน ธ.ค.นี้

“คลัง-แบงก์ชาติ” ตกลงรื้อ “กรอบเงินเฟ้อ” ครั้งแรกรอบ 5 ปี กำหนดกรอบใหม่ “แคบลง-ไม่มีค่ากลาง” หลังจากประกาศใช้กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 2.5% +/- 1.5% ต่อปี มาตั้งแต่ปี 2558 เหตุประเมินแล้วถึงสิ้นปีนี้เงินเฟ้อส่อ “หลุดกรอบล่าง” อยู่ต่ำกว่า 1% เหตุราคาเชื้อเพลิงฮวบ-เงินเฟ้อพื้นฐานต่ำกว่าคาด

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธปท.ได้ตกลงเป้าหมายนโยบายการเงิน ปี 2563 (กรอบเงินเฟ้อ) กับทางกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2562 ที่กำหนดไว้ที่ 2.5% +/- 1.5% ต่อปี ทาง ธปท.จึงได้เสนอกระทรวงการคลังปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2563 ใหม่ โดยพิจารณากรอบเป้าหมายที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ส่วนกรอบใหม่จะเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะต้องรอกระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติก่อน

“ปกติถ้าเงินเฟ้อหลุดเป้ากรอบเป้าหมายอย่างเช่นที่ผ่าน ๆ มา เราจะมีการส่งจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง เพื่อชี้แจงสาเหตุที่เงินเฟ้อหลุดเป้า รวมถึงจะต้องแจ้งว่ากรอบเงินเฟ้อจะสามารถกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เมื่อไหร่ และ ธปท.จะมีวิธีบริหารจัดการให้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างไร ซึ่งช่วงปลายปีของทุก ๆ ปี ธปท.จะมีการเข้าหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อของปีถัดไปอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธปท.ได้เสนอต่อกระทรวงการคลังว่า การพิจารณากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จะต้องพิจารณากรอบเป้าหมายในระยะปานกลางด้วย” นายเมธีกล่าว

นายเมธีกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ธปท.มีความร่วมมือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ศึกษาถึงการนำกรอบการทำงานด้านเสถียรภาพทางการเงิน (financial framework) เข้ามาอยู่ในการวางกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อด้วย โดยจะเปิดให้ผู้ประเมินภายนอกที่เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพิจารณาการทำนโยบายการเงิน ซึ่งอาจเป็นองค์กรจากต่างประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) เป็นต้น เข้ามาประเมินด้วย โดยจะเริ่มในปี 2563

“ปกติเวลาวางกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เราก็มีการคำนึงถึงเรื่องเสถียรภาพทางการเงินทุกครั้ง แต่อาจยังไม่ได้ผนวกปัจจัยเสถียรภาพทางการเงินเข้ามาสนิท ซึ่งจากนี้ไปเราจะนำเสถียรภาพทางการเงินมาดูให้ชัดเจนว่าส่งผลกระทบต่อกรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างไร เดิมเราเห็นแต่สัญญาณว่าเสถียรภาพทางการเงินว่าน่าจะมีความเสี่ยง แต่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าส่งผลกระทบต่อกรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างไรบ้าง ก็จะทำให้ภาพชัดเจนขึ้น” นายเมธีกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า ปีนี้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม และไม่น่าจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-4% ได้ จากผลของราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำกว่าคาด โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2562 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.8% และจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1% ได้ ในปี 2563

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังกับ ธปท.ได้ข้อสรุปว่า จะมีการปรับกรอบเงินเฟ้อ ปี 2563 ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น จากกรอบเดิมที่ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยทั้งปีที่ 2.5% +/- 1.5% ต่อปี หรือช่วงตั้งแต่ 1-4% ต่อปี ซึ่งค่อนข้างกว้าง และกรอบดังกล่าวเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2558 แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อก็ไม่เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นในปี 2563 ก็จึงมีการปรับให้ช่วงเงินเฟ้อเป้าหมายให้แคบลง และไม่ได้เป็นเป้าหมายรายปี แต่เป็นการมองระยะปานกลาง

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเสนอกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ปี 2563 ให้ ครม.พิจารณาภายในเดือน ธ.ค.นี้ โดยยอมรับว่ามีการปรับกรอบเงินเฟ้อแตกต่างไปจากเดิมที่ 2.5% +/- 1.5% เนื่องจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อแต่ละปีไม่เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่วางไว้

“ปีนี้อัตราเงินเฟ้อจนถึงเดือน ก.ย. 2562 ก็อยู่ที่ 0.8% ต่ำกว่ากรอบล่างที่อยู่ที่ 1% ซึ่งกรอบเดิมเราดูกันแล้วว่า อาจจะกว้างไป คือ 1-4% ก็อาจจะประกาศใหม่แบบเป็นช่วงไปเลย ไม่ต้องมีค่ากลาง แล้วก็ขอบบน ขอบล่างก็แคบลง” นายลวรณกล่าว


นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค. 2562 ปรับลดลงค่อนข้างมากมาอยู่ที่ 0.11% จากเดือน ก.ย.อยู่ที่ 0.32% โดยมีสาเหตุมาจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงปัจจัยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ต้นทุนการนำเข้าน้ำมันดิบลดลง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดที่ปรับลดลงตามราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะราคาเนื้อหมู เนื่องจากผู้บริโภคกังวลต่อการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในประเทศเพื่อนบ้าน และราคาผลไม้ปรับลดลง หลังปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค.ลดลง