วิกฤตฮ่องกง? สั่นคลอนการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก
โดย ขวัญใจ เตชเสนสกุล EXIM BANK

ฮ่องกง ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย ทั้งในด้านการค้า การท่องเที่ยว และการเงิน อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยบั่นทอนที่รุมเร้ารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกงที่ยืดเยื้อมากว่า 6 เดือน รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงซึ่งเป็นประตูการค้าที่สำคัญของจีนแย่ลงต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 3 ปี 2562 หดตัว 3.2% (QOQ) นับเป็นการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ส่งผลให้เศรษฐกิจฮ่องกงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (technical recession) ครั้งแรกในรอบ 10 ปี ปัจจัยดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาจสั่นคลอนสถานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของฮ่องกงใน 3 มิติ ดังนี้

@ ศูนย์กลางทางการค้า ฮ่องกงถือได้ว่าเป็น “ชาติการค้า” หรือ “trading nation” ที่สำคัญของภูมิภาคและของโลก โดยการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP ของฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 300% สูงที่สุดในโลก โดยราว 50% เป็นการค้ากับจีน ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกของฮ่องกงปี 2562 หดตัวต่อเนื่องทุกเดือนตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกปี 2562 มูลค่าส่งออกของฮ่องกงหดตัว 3.7% (YOY) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการส่งออกไปจีนที่หดตัวถึง 6% ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่คล้ายกับหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงไทย ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนที่ล้วนได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ประท้วงในเดือน มิ.ย. 2562 การส่งออกของฮ่องกงกลับยิ่งทรุดหนัก โดยในไตรมาส 3 มูลค่าส่งออกของฮ่องกง หดตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6.5% สะท้อนให้เห็นว่าการค้าระหว่างประเทศของฮ่องกงถูกซ้ำเติมจากการประท้วงที่ทำให้การผลิตและการขนส่งบางส่วนต้องสะดุดลง นอกเหนือจากเหตุผลที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้า

@ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการเดินทาง ฮ่องกงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 29 ล้านคนต่อปี และหากรวมชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านฮ่องกง (sameday visitors) เข้าไปด้วย จะมีจำนวนสูงถึงราว 65 ล้านคน สูงเป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาค ด้วยจุดเด่นของการเป็นแหล่งช็อปปิ้งที่มีชื่อเสียง จากการเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าปลอดภาษี อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ที่เริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านฮ่องกงในไตรมาส 3 หดตัวถึง 26% ต่ำสุดนับตั้งแต่โรค SARS ระบาดเมื่อปี 2546 ส่งผลให้ยอดค้าปลีกของฮ่องกงในไตรมาส 3 หดตัวถึง 18% สะท้อนให้เห็นว่าเหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นกระทบต่อการเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวและการเดินทางของฮ่องกงค่อนข้างรุนแรง

@ ศูนย์กลางทางการเงิน ปัจจุบันสินทรัพย์ของสถาบันการเงินต่อ GDP ของฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วนราว 250% สูงที่สุดในโลก หากพิจารณาตัวชี้วัดต่าง ๆ ของภาคการเงิน นับตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุประท้วงในเดือนมิถุนายน พบว่า สถานะของภาคการเงินในฮ่องกงยังคงแข็งแกร่ง โดยสินเชื่อในรูปเงินตราต่างประเทศของฮ่องกง ล่าสุดในเดือน ก.ย. 2562 อยู่ที่ 4.07 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพิ่มขึ้นจาก 3.92 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง ในเดือน มิ.ย. 2562 ขณะที่เงินฝากในรูปเงินตราต่างประเทศทั้งหมดในเดือน ก.ย. 2562 อยู่ที่ราว 6.71 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพิ่มขึ้นจาก 6.65 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกงในเดือน มิ.ย. นอกจากนี้ ทุนสำรองระหว่างประเทศในเดือน ก.ย. 2562 อยู่ที่ 3.44 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง ลดลงเพียงเล็กน้อยจากเดือน มิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 3.48 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง สะท้อนว่าภาคการเงินของฮ่องกงยังไม่ถูกสั่นคลอน

สำหรับประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในฮ่องกง ทั้งในภาคส่งออกและท่องเที่ยว โดยในภาคส่งออกพบว่า มูลค่าส่งออกของไทยไปฮ่องกงในช่วง 9 เดือนแรก หดตัวถึง 8% หดตัวสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากอาเซียนเดิม หากพิจารณาจากตลาดส่งออก 10 อันดับแรกของไทย ขณะที่ในภาคการท่องเที่ยวพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกง ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 9 ของไทย หดตัว 2% ในไตรมาส 3 ปี 2562 เทียบกับในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวกว่า 7% อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวของไทยก็ได้อานิสงส์จากเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกงเช่นกัน เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เข้ามาไทยในช่วงไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 18.8% 12.9% 7.7% และ 8.5% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มหันมาท่องเที่ยวในประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทย แทนฮ่องกงที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะได้ป้องกันความเสี่ยง หรือปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อย่างทันท่วงที

 


Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK