ก.ล.ต.กระชับพื้นที่คุมหุ้นกู้เสี่ยง คุ้มครองนักลงทุนยุค “เสิร์ชฟอร์ยีลด์”

ปี 2562 นี้ การออกตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) ทำสถิติทะลุ 1 ล้านล้านบาทไปแล้ว โดยสิ่งที่น่าสนใจ คือ ท่ามกลางการผิดนัดชำระหนี้ที่ยังมีให้เห็นต่อเนื่อง แต่หุ้นกู้ก็ยังคงขายดิบขายดี อาจด้วยภาวะดอกเบี้ยต่ำที่ทำให้นักลงทุนพยายามแสวงหาผลตอบแทนที่สูง (search for yield) ทำให้ได้เห็นปรากฏการณ์ธุรกิจเอกชนรายใหญ่แห่ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (perpetual bond) กันมาก ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2562 มูลค่ารวมกันร่วม ๆ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลายฝ่ายมองกันว่า หุ้นกู้ชนิดนี้ก็เป็นหุ้นกู้เสี่ยงที่ต้องจับตาเช่นกัน

โดยผู้กำกับดูแลอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็พยายามปรับปรุงเกณฑ์กำกับดูแลตลาดตราสารหนี้ใหม่ เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน ซึ่งเริ่มปรับครั้งแรก ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2561 หลังเกิดกรณีผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน (บี/อี) ครั้งใหญ่ ในปี 2559

โดย “จอมขวัญ คงสกุล” ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า เกณฑ์ใหม่เมื่อ เม.ย. 2561 ได้ปรับปรุงรายละเอียดการเสนอขายและจัดประเภทผู้ลงทุน ได้แก่ การระบุไม่ให้ขายตั๋วบี/อีในวงกว้าง และการขายหุ้นกู้ให้แก่กลุ่มผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจง 10 ราย (PP-10) จะต้องเป็นคนรู้จักของผู้ออกตราสาร นักลงทุนสถาบัน (II) หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) ที่ต้องมีตัวกลางในการซื้อขายเท่านั้น พร้อมแยกการกำกับดูแลนักลงทุนสถาบันกับ HNW ออกจากกัน จากเดิมที่ใช้เกณฑ์เดียวกันกำกับดูแล ซึ่งเกณฑ์กำกับนักลงทุนรายใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันจะเข้มข้นขึ้น โดยกำหนดให้ต้องขออนุญาต ก.ล.ต. ก่อนที่จะลงทุน ต้องมีตัวกลางในการขายหุ้นกู้ และต้องมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (BHR) เพื่อดำเนินการแทนในกรณีที่หุ้นกู้เกิดการผิดนัดชำระหนี้

นอกจากนี้ยังกำหนดให้เพิ่มรายละเอียดของหนังสือชี้ชวน (filing) เพื่อให้ผู้ลงทุนประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท ในส่วนการขายตราสารหนี้ให้ผู้ลงทุนทั่วไป (PO) กำหนดให้บริษัทผู้ออกตราสารหนี้จะต้องไม่มีประเด็นเรื่องธรรมาภิบาล และกำหนดให้ตัวกลางที่เสนอขายตราสารหนี้ เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แยกหน้าที่ของผู้ตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของกิจการ (due diligence) และผู้ขาย (sales) ให้ชัดเจน

อย่างไรก็ดี ก.ล.ต.ได้มีการประเมินภาพรวมตลาดตราสารหนี้อีกครั้ง ซึ่งพบว่ายังมีจุดเปราะบางในส่วนของตราสารที่มีความเสี่ยงสูง หรือตราสารที่ได้รับการจัดอันดับต่ำกว่าระดับ BBB (noninvestment grade) พบว่า 49% หรือเกือบครึ่งของ “ตราสารเสี่ยง” ถูกถือโดย HNW ขณะที่นักลงทุนสถาบันถือเพียง 13% เท่านั้น (ดูกราฟิก)

“ในต่างประเทศ ภาพการถือตราสารจะตรงกันข้ามกับของไทย โดยนักลงทุนสถาบันจะลงทุนในตราสารเสี่ยงสูงถึง 99.99% แต่เมืองไทยนักลงทุนสถาบันกลับลงทุนแต่ของดี และกลายเป็นนักลงทุนบุคคลธรรมดาที่เข้าไปลงทุนในของเสี่ยง เช่น คนที่นำเงินออมทั้งชีวิตมาลงทุนเพื่อรอเกษียณ หรือนักลงทุนรายใหญ่ที่รับความเสี่ยงได้ไม่เท่าสถาบัน โดยเฉพาะในภาวะดอกเบี้ยต่ำ คนมักจะมองหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง”

นอกจากนี้ ตัวกลางขายที่เป็นธนาคารพาณิชย์ มีการเสนอขายตราสารเสี่ยงในสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำเพียง 13% ขณะที่อีก 87% ที่เหลือถูกเสนอขายโดย บล. ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการที่ส่วนต่างที่ได้รับจากการขาย (spread) ค่อนข้างสูง ประกอบกับสภาวะแข่งขันของธุรกิจหลักทรัพย์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทจำเป็นต้องทำเพื่อหารายได้

ก.ล.ต.จึงเพิ่มแนวทางการกำกับดูแลตลาดตราสารหนี้อีกครั้ง โดยจำกัดให้นักลงทุน PP-10 จะต้องเป็นนักลงทุนสถาบัน กรรมการ หรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหุ้นกู้เท่านั้น พร้อมกำหนดให้บริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะต้องระบุข้อมูลความเสี่ยงเฉพาะของบริษัทลงไปในหนังสือชี้ชวน รวมถึงให้บริษัทปรับปรุงงบการเงินให้มีรูปแบบที่อ่านง่าย เน้นแสดงความเสี่ยงสำคัญ และนำเสนออย่างตรงประเด็น

“ด้านการบังคับใช้กฎหมาย (enforcement) เราดูแลตั้งแต่กระบวนการอนุมัติ หากที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) หรือผู้รับประกันการจัดจำหน่าย (underwriter) เปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงของหุ้นกู้แก่ ก.ล.ต.ไม่ถูกต้อง ครบถ้วน และตรงประเด็น จะมีการกาหัว หรือลงโทษต่อไป โดยโทษมีตั้งแต่การออกหนังสือเตือน เรียกผู้บริหารมาพบ นำเรื่องเข้าบอร์ดเพื่อพิจารณาโทษ ไปจนถึงเพิกถอน เพื่อยกระดับการทำหน้าที่ที่ปรึกษาให้มีคุณภาพ”

ขณะที่กลไกการจัดการเมื่อเกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ เดิมเมื่อเกิดการผิดนัดชำระ ก.ล.ต.ไม่มีข้อมูลว่า ผู้ถือหุ้นกู้จริง ๆ คนสุดท้ายเป็นใคร (หลังเกิดการซื้อขายเปลี่ยนมือ) ดังนั้นจึงกำหนดให้ทั้งผู้ออกตราสารหนี้ และนายทะเบียน แจ้งข้อมูลต่อ ก.ล.ต.ทันที โดยเกณฑ์ล่าสุดได้ผ่านการรับฟังความเห็น (เฮียริ่ง) ไปแล้ว และคาดว่าจะประกาศใช้อย่างช้าที่สุด น่าจะเป็นกลางปี 2563

“หวังว่าหลังห้ามขายตราสารเสี่ยงกลุ่ม PP-10 สัดส่วนการถือตราสารเสี่ยงกลุ่มนี้จะลดลง อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.ไม่สามารถไม่อนุมัติการออกตราสาร หรือไปตัดสินมูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) และสถานะทางการเงินของบริษัทได้ หากบริษัทที่ออกตราสารมีการเปิดเผยข้อมูลและความเสี่ยงที่ครบถ้วน ดังนั้นนักลงทุนจะต้องประเมินด้วยว่า ผลตอบแทนที่ได้คุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่”

ความพยายามเพิ่ม “ความคุ้มครอง” ให้แก่ผู้ลงทุนในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น จะได้ผลขนาดไหน คงต้องติดตามกันต่อไป