ธปท.จัดระเบียบแบงก์เก็บ”ค่าฟี” ตั้งเป้าลดต้นทุนSME-ดีเดย์ต้นปี’63

ธปท.เดินหน้าคุมเข้มแบงก์คิดค่าธรรมเนียมขอสินเชื่อต้นปีหน้า ชี้ปรับปรุงให้สะท้อนต้นทุนแท้จริง หวังช่วยลดภาระ-สร้างความเป็นธรรม โฟกัสกลุ่มเอสเอ็มอี ส่งทีมสุ่มตรวจ”ทีเอ็มบี” เผยรายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์ทั้งระบบโตกระโดด “กสิกรไทย” คาดกระทบรายได้ค่าฟีสินเชื่อยกแผง ห่วงรายเล็กเข้าถึงแหล่งทุนยากขึ้น
จัดระเบียบ “ค่าฟี” แบงก์

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.มีแผนกำกับดูแลให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงค่าธรรมเนียมการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินต่าง ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานกำกับดูแลด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (market conduct) ในปี 2563 พบว่า การคิดค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินบางส่วนยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง หรือมีการเก็บค่าธรรมเนียมอย่างไม่เป็นธรรมกับลูกค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี

ปัจจุบันค่าธรรมเนียมของแบงก์มีมากถึง 200-300 รายการ ซึ่งค่าธรรมเนียมที่คิดจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น ค่าธรรมเนียมวิเคราะห์โครงการ (front-end fee) ค่าธรรมเนียมชำระเงินกู้คืนก่อนครบกำหนด (prepayment fee) ค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ (commitment fee) ฯลฯ

“สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะกำหนดไม่ให้คิดค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ แต่ธนาคารยังมีการคิดค่าธรรมเนียมยึดรถ รวมไปกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เป็นต้น โดยหลักการกำกับ คิดค่าธรรมเนียมได้ แต่ต้องมีความเป็นธรรม”

ส่งทีมสุ่มตรวจแบงก์

นางธัญญนิตย์กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับธนาคารต่าง ๆ เป็นระยะ และเตรียมเผยแพร่แนวทางปฏิบัติในช่วงต้นปี 2563 เพื่อให้ธนาคารมีแนวทางที่ถูกต้อง เป็นตัวอย่างเพื่อใช้ปรับปรุงการดำเนินงาน และช่วงกลางปี 2563 ธปท.จะมีการสุ่มตรวจต่อไป แบงก์จะต้องอธิบายได้ว่า การคิดค่าธรรมเนียมในแต่ละส่วนมีเหตุผลการคิด หรือมีต้นทุนที่นำมาคิดอย่างไร ไม่ใช่ว่าตั้งตัวเลขค่าธรรมเนียมขึ้นมาเอง

ที่ผ่านมาเมื่อมีลูกค้าร้องเรียนเข้ามาผ่านศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ทาง ธปท.ก็จะเข้าไปตรวจสอบว่า แบงก์มีการประกาศการเก็บค่าธรรมเนียม ส่วนที่ถูกร้องเรียนหรือไม่ หากมีประกาศชัดเจนก็สามารถเก็บค่าธรรมเนียมกับลูกค้าได้ แต่หลังจากนี้ การกำกับดูแลของ ธปท.จะต้องลงไปในระดับที่ลึกกว่าเดิม คือ เข้าไปดูแลให้เกิดการคิดค่าธรรมเนียมเป็นธรรมด้วย เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของธนาคาร

แฉค่าฟีโตกระโดด 2 ปีติด

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี TMB Analytic ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ารายได้ในส่วนของค่าธรรมเนียมอื่น ๆ มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง ประมาณ 20% ส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมสินเชื่อ และค่าธรรมเนียมวิเคราะห์โครงการ โดยไตรมาส 3/2562 รายได้ส่วนนี้ของกลุ่มแบงก์มีมูลค่า 6,500 ล้านบาท หรือ 13% ของรายได้ค่าธรรมเนียม ดังนั้น หาก ธปท.มีการปรับปรุงแนวทางการคิดค่าธรรมเนียมการใช้บริการให้เป็นธรรม น่าจะกระทบรายได้ส่วนนี้พอสมควร เชื่อว่า ธปท.คงทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันธนาคารแต่ละแห่งเรียกเก็บไม่เท่ากัน

ทั้งนี้ ไตรมาส 3/62 รายได้ค่าธรรมเนียมทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ 4.83 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากค่านายหน้า การขายกองทุนและประกัน 1.02 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 21% ค่าธรรมเนียมจากบัตรเครดิต 9,470 ล้านบาท สัดส่วน 20%, ค่าธรรมเนียมและบริการอื่น ๆ 8,869 ล้านบาท สัดส่วน 18%, ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มและเดบิต 8,321 ล้านบาท คิดเป็น 17%, ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ 6,422 ล้านบาท 13% และค่าธรรมเนียมโอนเงินและเรียกเก็บเงิน 5,010 ล้านบาท สัดส่วน 11%

โดยรายได้รวมของธนาคารทั้งระบบ แบ่งเป็น รายได้ดอกเบี้ย 57% และรายได้ค่าธรรมเนียม 43%

หวั่นกระทบรายได้แบงก์ยกแผง

นางธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า หาก ธปท. ปรับปรุงการคิดค่าธรรมเนียมจริง จะกระทบรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อทั้งหมด ขณะที่ทิศทางรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารอยู่ในภาวะถอยลง และไม่หวือหวาเหมือนในอดีต หลังจากมีเรื่องของ market conduct และลดค่าธรรมเนียมการโอนเงิน รายได้ค่าธรรมเนียมเกี่ยวข้องกับสินเชื่อ 9 เดือนแรก จะยังโดดเด่นมี 2 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมการรับรองอาวัลและค้ำประกันอยู่ที่ 6,911 ล้านบาท คิดเป็น 5% เทียบกับรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมด และค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันการส่งออก (L/C) อยู่ที่ 1,138 ล้านบาท หรือ 5.7%

“แนวโน้มหากรายได้ค่าธรรมเนียมเก็บได้ยากมากขึ้น ธนาคารพยายามกลับมาที่การปล่อยสินเชื่อ และเน้นการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพ ซึ่งจะต้องไม่นำมาสู่ต้นทุนการบริหารจัดการหนี้เสีย เพราะทิศทางการแข่งขันทำได้ยากขึ้น และทางการส่งสัญญาณมาในลักษณะนี้ รายได้ที่ทำได้ คือ การปล่อยสินเชื่อ เพราะรายได้ดอกเบี้ยยังมีสัดส่วนสูง” นางธัญญลักษณ์กล่าว

แบงก์ห่วงทำ SMEs เข้าไม่ถึงทุน

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธปท.ส่งสัญญาณมาบ้างทั้งในเรื่องการลดดอกเบี้ย และการห้ามบังคับขายประกัน ในส่วนการคิดค่าธรรมเนียมธนาคาร หาก ธปท.ออกเกณฑ์ห้ามเรียกเก็บเกินอัตราเท่าไหร่ ตรงนี้จะกระทบการปล่อยสินเชื่อแน่นอน ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีเยอะ อาจจะโดนกระทบมากหน่อย ซึ่งกสิกรไทยก็ถือเป็นธนาคารที่มีพอร์ตเอสเอ็มอีค่อนข้างมากอยู่ที่ราว 7.1-7.2 แสนล้านบาท

“หากแบงก์มองว่าปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีไม่คุ้มกับต้นทุน ไม่ใช่เรื่องค่าธรรมเนียมที่ทำให้เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงสินเชื่อ แต่เป็นเพราะธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ” นายสุรัตน์กล่าว