ปลดล็อก “หุ้นกู้ตลอดชีพ” ไปต่อ เกณฑ์บัญชีใหม่ไม่สะเทือน-เอกชนสบช่องลุย

ก.ล.ต.คาด 7 บจ.ทยอยเรียกประชุมผู้ถือ “หุ้นกู้ตลอดชีพ” เจรจาปรับเงื่อนไขให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีใหม่ หลัง กกบ.เปิดทางบริษัทเอกชนที่ออก “หุ้นกู้ตลอดชีพ” บันทึกเป็นทุนได้เหมือนเดิม แค่ปรับเงื่อนไขการชำระคืน เมื่อ “เลิกกิจการ-ล้มละลาย” ให้เสร็จภายในปี 2565 ฟาก “สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” คาดแนวโน้ม บจ.ยังแห่ออกหุ้นกู้ตลอดชีพอีกเพียบ

การบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ ฉบับที่ 32 (TAS32) ที่จะเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2563 นี้ ไม่ได้ส่งผลให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (perpetual bond) หรือหุ้นกู้ตลอดชีพมีความเสี่ยงที่ต่างไปจากเดิม โดยยังคงเสี่ยงสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไปเช่นเดิม

นายธวัชชัย เกียรติกวานกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.คาดว่าบริษัทที่มีการออกหุ้นกู้ตลอดชีพรายเก่าที่ยังไม่ได้มีการปรับเงื่อนไขให้เป็นไปตาม TAS32 น่าจะมีการทยอยเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อเจรจาขอปรับเงื่อนไขให้สามารถบันทึกหุ้นกู้ตลอดชีพเป็นทุนได้เช่นเดิม ซึ่งปัจจุบันมีหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) รวม 7 รายด้วยกันที่ต้องมีการปรับเงื่อนไข มูลค่ารวม 68,980 ล้านบาท

“หลังปรับแก้เงื่อนไขจะส่งผลให้สิทธิของผู้ถือหน่วยลดลงไปตามเงื่อนไขที่ลดลง อย่างไรก็ดี ก.ล.ต.มองว่านักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้ตลอดชีพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่แสวงหาผลตอบแทน (search for yield) มีแนวโน้มจะยอมตกลง ถือหุ้นกู้ตลอดชีพในระยะยาวมากกว่าที่จะขอรับเงินต้นคืน เพราะโอกาสที่จะหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงเท่าหุ้นกู้ตลอดชีพในปัจจุบันทำได้ยาก รวมถึงในการเจรจาปรับเงื่อนไขผู้ลงทุนเอง ก็สามารถเจรจาขอปรับเงินปันผลเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน ส่วนบริษัทที่ออกหุ้นกู้แม้จะสามารถเรียกคืนและชำระคืนเงินต้นเพื่อออกหุ้นกู้ชุดใหม่ได้ โดยเฉพาะในภาวะดอกเบี้ยขาลงเช่นนี้ แต่ค่าใช้จ่ายในการเรียกคืนและออกใหม่ที่ค่อนข้างสูง รวมถึงการออกหุ้นกู้ตลอดชีพสามารถนำเงินปันผลที่จ่ายให้ผู้ถือหน่วยไปลดหย่อนภาษี ดังนั้น เชื่อว่าบริษัทต่าง ๆ จะพยายามแก้เงื่อนไข”

ทั้งนี้ TAS32 กำหนดให้ บจ.เปลี่ยนการบันทึกหุ้นกู้ตลอดชีพ เป็นหนี้สินทางการเงิน จากเดิมที่สามารถบันทึกเป็นทุนได้ แต่ล่าสุดคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) มีมติผ่อนผันให้หุ้นกู้ตลอดชีพ ที่มีการเสนอขายและได้รับชำระค่าหุ้นกู้ก่อนวันที่ 31 ธ.ค. 2562 สามารถแสดงรายการเป็นส่วนหนึ่งของทุนต่อไปได้อีกไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ 1 ม.ค. 2563 โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้คืนเงินต้นในกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ เพียง 2 กรณีเท่านั้น ได้แก่ กรณีที่ล้มละลาย และกรณีที่เลิกกิจการ จากเดิมที่หุ้นกู้ตลอดชีพจะมีการระบุเงื่อนไขการจ่ายคืนเงินต้นในกรณีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และมีการฟื้นฟูกิจการด้วย

ดังนั้น บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ในระยะหลัง จึงมีการแก้ไขข้อกำหนด โดยตัดกรณีศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และมีการฟื้นฟูกิจการออกไป เหลือเพียงการคืนเงินต้นให้แก่ผู้ถือหน่วยในกรณีที่ล้มละลายหรือเลิกกิจการเท่านั้น ส่วนบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ในช่วงก่อนหน้านี้ที่ยังกำหนดเงื่อนไขเดิมครบทั้ง 4 ข้อ จะต้องเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเพื่อให้สามารถระบุหุ้นกู้ตลอดชีพเป็นทุนในงบการเงิน โดยทุกบริษัทจะทยอยเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อเจรจาขอปรับเงื่อนไขดังกล่าว

“หากบริษัทจ่ายคืนเงินต้นให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้เมื่อบริษัทล้มละลายหรือเลิกกิจการเท่านั้น แปลว่าผู้ถือหุ้นกู้ตลอดชีพจะได้รับเงินต้นคืนพร้อม ๆ กับผู้ถือหุ้น หรือคนที่เป็นเจ้าของบริษัท เพราะฉะนั้นจึงสามารถระบุให้หุ้นกู้ตลอดชีพเป็นทุนได้ แต่ถ้าในกรณีที่ถูกศาลสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์หรือฟื้นฟูกิจการแล้วต้องคืนเงินต้น แปลว่าได้รับเงินต้นก่อนเจ้าของ หากบริษัทฟื้นฟูกิจการสำเร็จ แต่ผู้ถือหุ้นกู้ได้เงินไปแล้ว จึงถือว่ากรณีนี้เป็นหนี้”

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ระยะเวลา 3 ปีที่ กกบ.เปิดทางให้ เป็นเวลาที่ผู้ออกหุ้นกู้ที่ต้องปรับเงื่อนไข สามารถเตรียมการได้ทัน ขณะที่ในอนาคต ก็มีความเป็นไปได้ที่ บจ.จะหันมาออกหุ้นกู้ประเภทนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในบริษัทที่มีการซื้อหรือขยายกิจการ เพราะหากกู้เงินจากธนาคารมาใช้ จะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ถ้าออกหุ้นกู้ตลอดชีพบริษัทจะสามารถบันทึกบัญชีให้เป็นทุนได้ ส่งผลให้ภาระหนี้ของบริษัทลดลง

ทั้งนี้ หลายประเทศก็มีการออกหุ้นกู้ตลอดชีพค่อนข้างสูง เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ผู้ลงทุนหุ้นกู้ชนิดนี้จะเป็นนักลงทุนสถาบัน ต่างจากไทยที่เป็นรายย่อยที่ลงทุนสัดส่วนสูง

“ในปี 2562 บจ.มีการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ตลอดชีพค่อนข้างสูง โดยคาดว่ามาจากการที่ปัจจุบันเป็นช่วงดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการต่ออายุตราสาร (rollover) โดยบริษัทส่วนหนึ่งถือโอกาสช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ปรับขึ้น หรือช่วงหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลงใหม่ ๆ เพื่อล็อกต้นทุน ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับผู้ถือหน่วยต่อปีลดลง”

นางสาวอริยากล่าวด้วยว่า มาตรฐานบัญชีใหม่คงไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนหุ้นกู้ตลอดชีพแตกต่างไปจากเดิม โดยหากนักลงทุนเข้าใจความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่จะลงทุน ก็สามารถลงทุนได้ ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาว่า ผู้ออกเป็นใคร และมีศักยภาพที่จะจ่ายคืนดอกเบี้ยได้หรือไม่ รวมถึงระวังความเสี่ยงที่อาจถูกเรียกคืนเมื่อหุ้นกู้มีอายุครบ 5 ปี

“ที่ผ่านมาในภาวะดอกเบี้ยต่ำ เข้าสู่ขาลง ผู้ออกหุ้นกู้จะใช้วิธีเรียกคืนและออกหุ้นกู้ชุดใหม่ เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิม ในทางกลับกัน หากในอนาคตดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ถือหุ้นกู้ก็จะเสียประโยชน์ที่จะนำเงินออกไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า”