ผู้ค้าออนไลน์หายใจคล่องอีกปี กม.ลูก “ธุรกรรมพิเศษ” ช้า-รัฐยังไม่บี้ภาษี

ผู้ค้าออนไลน์-คนมีธุรกรรมพิเศษ “โอนถี่-โอนมาก” ตามกฎหมายอีเพย์เมนต์ได้เฮ ! หลังกฎหมายลูกคลอดช้า คาดไม่มีธุรกรรมพิเศษในรอบปี’62 ถูกรายงานสรรพากร ส่วนธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะปี’63 รายงาน มี.ค. 64

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ที่มีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะให้แก่กรมสรรพากร ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 หรือกฎหมายอีเพย์เมนต์ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2562 จะต้องเริ่มรายงานครั้งแรกภายในสิ้นเดือน มี.ค. 2563

ทั้งนี้ ธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ 1.การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง ขึ้นไปต่อปีต่อธนาคาร และ 2.การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดเงินรวม 2,000,000 บาทขึ้นไปต่อปีต่อธนาคาร โดยกำหนดให้เริ่มรายงานธุรกรรมที่เกิดขึ้นในปี 2562 ซึ่งจะต้องรายงานกรมสรรพากรครั้งแรกภายในวันที่ 31 มี.ค. 2563

ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2562 ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่… (พ.ศ. …) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการนำส่งเงินภาษีและข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะ และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจร่างก่อนจะออกมาบังคับใช้ต่อไป

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามกฎหมายอีเพย์เมนต์ กำหนดให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ต้องรายงานข้อมูลธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในแต่ละปีภาษีต่อกรมสรรพากร ซึ่งกรมสรรพากรต้องออกกฎหมายลูกภายใน 180 วัน เพื่อกำหนดว่าจะให้เริ่มนับธุรกรรมตั้งแต่เมื่อไหร่ อย่างไรก็ดีการออกกฎหมายลูกมีความล่าช้า และล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการปรับปรุงในหลักการเพิ่มเติม ดังนั้น คาดว่าปี 2562 จะไม่มีธุรกรรมที่เข้าข่ายต้องรายงานเกิดขึ้น

“ตอนนี้การออกกฎหมายลูกล่าช้าและยังไม่บังคับใช้ โดยในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกามีการแก้ไขหลักการจากเดิมที่ร่างกฎหมายจะให้นับธุรกรรมหลังพ้น 30 วันนับจากกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ แต่เนื่องจากกลัวจะไม่ทันเริ่มต้นในปี 2562 ตามที่กฎหมายกำหนดให้แบงก์รายงานตอนต้นปี 2563 จึงให้เริ่มนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ ดังนั้น จึงต้องเสนอให้ ครม.เห็นชอบแก้ไขหลักการอีกครั้ง ซึ่งน่าจะในการประชุม ครม.สัปดาห์นี้ จึงกล่าวได้ว่าธุรกรรมในปี 2562 นี้น่าจะไม่มีใครถูกรายงาน โดยจะไปเริ่มที่ธุรกรรมที่เกิดขึ้นในปี 2563 ซึ่งต้องรายงานในเดือน มี.ค. 2564 เหมือนกับขยับออกไปอีก 1 ปี”แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การที่ร่างกฎหมายลูกล่าช้ากว่า 180 วันนั้น ทางกระทรวงการคลังชี้แจงว่า เนื่องจากร่างกฎหมายที่จะออกมา เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคเอกชน โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ต้องปรับปรุงระบบงานเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอีเพย์เมนต์ จึงต้องหารือกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องกับสภาพการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน และเพิ่มภาระแก่ภาคเอกชนน้อยที่สุด