ลูกหนี้บัตรเครดิตแสนรายเฮ จ่ายขั้นต่ำ”ตามนัด”ได้ลดดอกเบี้ย

แบงก์ชาติชงคลังคลอด “ของขวัญปีใหม่” รีไฟแนนซ์/ลดดอกเบี้ยลูกหนี้บัตร “ชำระดีมีเฮ” ไม่น้อยกว่า 1 แสนราย อุ้มลูกหนี้บัตรที่ผ่อนชำระได้แค่ขั้นต่ำ 10% สกัดหนี้เสีย แปลงเป็น “หนี้สินเชื่อบุคคล” ดอกเบี้ย 7-12% ยืดชำระ 36-48 เดือน แบงก์-ผู้ให้บริการบัตรเครดิต/บัตรกดเงินสดรับเป็นโครงการที่ดี แต่ต้องมีเงื่อนไขให้ “ปิดบัตรเก่า” กันก่อหนี้เพิ่ม

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการแถลงความคืบหน้าการกำกับดูแล market conduct ของ ธปท. เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ธปท.อยู่ระหว่างหาแนวทางเข้าไปดูแลลูกหนี้ดี ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่อาจจะเริ่มมีสัญญาณ หรือเริ่มมีปัญหา เพื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้เสียต่อไป

ดันอุ้มลูกหนี้ดีแสนราย

ขณะที่แหล่งข่าวจากแวดวงการเงินกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ได้เสนอเรื่องโครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรของลูกหนี้ที่มีประวัติผ่อนชำระดีไปที่กระทรวงการคลัง โดยเรื่องนี้น่าจะถูกผลักดันออกมาเป็นหนึ่งในแพ็กเกจของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งคาดว่าจะมีลูกหนี้บัตรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 1 แสนราย ทั้งนี้ อาจจะใช้ชื่อโครงการที่คล้าย ๆกับ “บ้านดีมีดาวน์” เช่น “จ่ายดีมีเฮ” หรืออื่น ๆ

โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิตที่ผ่อนชำระดีในรอบ 1 ปี แต่มีภาระหนี้หลายทาง ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถ มีหนี้บัตรเครดิตหลายใบแต่ชำระได้แค่ขั้นต่ำ 10% ทุกใบ ด้วยการแปลงหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้ส่วนบุคคล ซึ่งจะต้องมีการปรับตารางการชำระหนี้ใหม่ โดยอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่คิดลดลง จากเดิมต้องจ่ายหนี้บัตรสูงถึง 18% ต่อปี ก็จะเหลือ 7-12%

“โครงการนี้จะให้เป็นของขวัญปีใหม่ เป็นการลดดอกเบี้ยสำหรับคนที่จ่ายขั้นต่ำ แล้วมีแนวโน้มว่าจะผ่อนไม่ไหว คือ คนที่จ่ายขั้นต่ำอยู่ทุกบัตร เพราะไม่มีเงินเหลือ เนื่องจากมีหนี้อื่นอยู่ด้วย ทั้งหนี้รถ และหนี้บ้าน ก็ให้รีไฟแนนซ์เปลี่ยนเป็นสินเชื่อบุคคล แต่เข้าใจว่าการรีไฟแนนซ์ในโครงการนี้อาจจะไม่ทำข้ามแบงก์ ต้องทำกับแบงก์หรือบริษัทเจ้าของบัตร เพื่อไม่ให้ยุ่งยาก” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการที่สำคัญที่สุด คือ ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตต้องการให้กำหนดให้ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ ต้องปิดบัตรเก่าที่มีทั้งหมด เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดการนำบัตรเข้าร่วมโครงการไม่หมด แล้วยังคงก่อหนี้เพิ่มต่อไปอีก อย่างไรก็ดี คุณสมบัติเหล่านี้ต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

“ถ้าปิดบัตรเครดิตก็อาจจะต้องมีเงื่อนไขว่า ถ้าจะขอใหม่ก็ขอได้เฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งก็อาจจะไปติดเกณฑ์ภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) อีก” แหล่งข่าวกล่าว

แบงก์หวั่นตั้งสำรองเพิ่ม

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดี โครงการนี้ยังมีข้อกังวลว่าจะเกิดผลข้างเคียง หากกำหนดเงื่อนไขไม่ดีก็คือ คนที่ชำระมากกว่าขั้นต่ำก็จะรู้สึกว่า ทำไมไม่ได้อะไร ทั้ง ๆ ที่ชำระดีเหมือนกัน หรือทำให้เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในกลุ่มที่เคยชำระมากกว่าขั้นต่ำ ก็อาจจะหันมาชำระขั้นต่ำกันมากขึ้น ขณะที่ในมุมผู้ให้บริการบัตรเครดิตก็กังวลว่า การปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 7-12% จะมีส่วนต่างเกิดขึ้น จึงต้องปรับให้เป็นอัตราดอกเบี้ยตลาด เพราะไม่เช่นนั้นอาจต้องตั้งสำรองส่วนต่างตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) ส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ย และกำไรได้ รวมถึงการปรับตารางชำระหนี้ใหม่ ก็อาจจะต้องกำหนดให้ไม่ต้องรายงานไปที่เครดิตบูโรด้วย

“ยังมีประเด็นว่า IFRS9 บอกว่า หากลดดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาด ส่วนต่างที่เกิดขึ้นจะต้องมีการกันสำรองเพิ่มขึ้น เช่น ลดดอกเบี้ยจาก 18% เหลือ 12% โดยแปลงหนี้บัตรเป็นเงินกู้ (loan) ผ่อนชำระ 36 งวด หรือ 48 งวด ต้องตีความให้ได้ว่า อัตราตลาดจริง ๆ อยู่ที่ 12% ซึ่งวิธีการ คือ ใช้เครดิตสกอริ่งของเครดิตบูโรในการอ้างอิง คือ ดูตามความเสี่ยงของลูกค้า เพราะจริง ๆ อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตสามารถคิดได้ตั้งแต่ 0-18% ส่วนอัตราที่คิดกัน 18% คือเพดานสูงสุด” แหล่งข่าวกล่าว

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธปท. กล่าวว่า ตามที่ปรากฏข่าวโครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรของลูกหนี้ที่มีประวัติผ่อนชำระดี แต่เริ่มประสบปัญหาการผ่อนชำระนั้น ธปท.เล็งเห็นถึงปัญหาของลูกหนี้กลุ่มนี้ที่แจ้งผ่านโครงการคลินิกแก้หนี้ จึงได้หารือกับสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการว่าจะช่วยดูแลลูกหนี้กลุ่มนี้ได้อย่างไรบ้าง โดยยังคงอิงกลไกตลาดที่จะส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการหารือหลักการเบื้องต้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งก่อนจะมีแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินการต่อไป

แบงก์ถกชมรมบัตรเครดิต

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรีคอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในฐานะประธานชมรมบัตรเครดิตว่า ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมสมาชิกชมรมบัตรเครดิต โดยจะมีการพูดคุยเรื่องโครงการรีไฟแนนซ์บัตรให้กับลูกค้าที่มีประวัติชำระดี

ทั้งนี้ โครงการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตนั้น ในอดีตธนาคารพาณิชย์มีการทำอยู่บ้าง แต่ช่วงหลังไม่ได้ทำ เนื่องจากธนาคารไม่สามารถควบคุมลูกค้าให้ปิดบัญชีทั้งหมดได้ เพราะในท้ายที่สุดจะพบว่าลูกค้าหันไปเปิดบัญชีใหม่ ทำให้การแก้ปัญหาไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นโครงการที่จะออกมาต้องการทราบวัตถุประสงค์จะช่วยลูกค้ากลุ่มใด เช่น ลูกค้าผ่อนชำระขั้นต่ำ 10% และกลุ่มผ่อนชำระขั้นต่ำ 20% และ 30-40% สามารถเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่ และหากเข้าโครงการจะควบคุมอย่างไรไม่ให้ลูกค้าหนีไปก่อหนี้ใหม่ หรือเปิดบัญชีใหม่เพิ่ม ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยที่จะต้องศึกษา

ขณะเดียวกันตอนนี้แต่ละธนาคารมีกลไกกระบวนการช่วยลูกค้าโดยการลดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่แล้ว ซึ่งกรณีที่ลูกค้ารายใดไม่สามารถผ่อนชำระได้ ธนาคารจะช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ยืดเทอมการชำระหนี้ให้ โดยพิจารณาเป็นรายกรณีไป อย่างไรก็ดี หากโครงการรีไฟแนนซ์ออกมาจริง ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยบ้าง แต่จะต้องรอดู ธปท.จะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เช่น การผ่อนเกณฑ์การตั้งสำรอง หรือเจาะเฉพาะกลุ่มเซ็กเมนต์ไหน และวิธีการช่วยเหลือจะไปแนวทางใด เพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง

“รายละเอียดยังต้องรอความชัดเจนก่อนว่าวัตถุประสงค์ ธปท.ต้องการช่วยเหลือกลุ่มใด และจะควบคุมไม่ให้ก่อหนี้ใหม่อย่างไร เช่น เดิมลูกค้าถือ 3 ใบ บัตรใบแรกใช้เต็มวงเงิน บัตรใบที่สองใช้วงเงินบ้าง และบัตรใบที่สามไม่ได้ใช้วงเงิน และลูกค้าเกิดชำระไม่ไหวมาขอผ่อนขั้นต่ำ โดยจะต้องปิดบัญชีทั้งหมด” นายฐากรกล่าว

ลูกหนี้ต้องหยุดก่อหนี้ใหม่

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต ลูกค้าดีเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดค่อนข้างซับซ้อน

“ลูกหนี้ดี เงินต้นและดอกเบี้ยยังคงไหลอยู่ ซึ่งจะต้องหาเจ้าหนี้มารับหน้าที่รับหนี้เหล่านี้ และใครจะมารับหนี้ตรงนี้ รวมถึงจะต้องระงับลูกค้าหยุดก่อหนี้ก้อนใหม่เพิ่มด้วย ดังนั้น สุดท้ายโครงการจะสามารถดำเนินได้ ลูกค้าจะต้องอยากเข้าร่วมโครงการด้วย” นายวีรวัฒน์กล่าว


นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้ “กรุงศรี เฟิร์สช้อยส์” และในฐานะประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า ลูกค้าเฟิร์สช้อยส์มีสัญญาณการชำระจ่ายล่าช้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเริ่มเห็นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีการปรับแผนการช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้าอยู่ 2 ล้านบัญชี