“สินเชื่อเอสเอ็มอี” ซึมยาวข้ามปี แบงก์เข้มปล่อยกู้ใหม่ “กสิกร” ชี้ปีนี้โตแค่ 1%

แบงก์หืดจับปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี คาดชะลอตัวลากยาวปี”63 ยังไม่ฟื้น “กสิกรไทย” รับปีหน้าสินเชื่อเอสเอ็มอีทรงตัวเท่าปีนี้ ที่คาดถึงสิ้นปีโตแค่ 1% ชี้ “เศรษฐกิจชะลอ-บาทแข็ง” ทำผู้ประกอบการเหนื่อย เข้มปล่อยกู้รายใหม่เช็กยอดขายยิบ มุ่งเจาะร้านค้าออนไลน์-กลุ่มรับอานิสงส์นโยบายรัฐ ขณะที่ “ไทยพาณิชย์” อุ้มเอสเอ็มอีไม่เก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน ฟาก “กรุงไทย” ระบุปีหน้าสินเชื่อใหม่โตยาก ขอประคอง-ปรับโครงสร้างหนี้อุ้มลูกค้าเก่าให้รอด แบงก์ชาติจ่อปรับโครงสร้างหนี้อุ้มเอสเอ็มอี

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปีนี้เติบโตช้ากว่าที่คิด ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งเงินบาทที่แข็งค่า ราคาพืชผลทางเกษตรที่ตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อยังไม่ฟื้น ส่งผลให้ธุรกิจเอสเอ็มอีค่อนข้างเหนื่อย แม้ว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่ได้แย่ลงมาก แต่ก็ไม่ได้ปรับดีขึ้น โดยเอ็นพีแอลสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารอยู่ที่ 5-6% ดังนั้นการปล่อยสินเชื่อจึงต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ารายใหม่ที่เข้ามาจะพิจารณาอย่างรัดกุมมากขึ้น ซึ่งต้องดูทั้งยอดขาย การรู้จักลูกค้า เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สัดส่วนการอนุมัติสินเชื่อ (approval rate) ยังคงทรงตัวไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลง เนื่องจากความต้องการสินเชื่อไม่ได้ขยายตัว โดยทั้งปีคาดว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีจะขยายตัวได้ 1% จากในช่วง 9 เดือนสินเชื่อขยายตัวแค่ 0.4% มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 6.64 แสนล้านบาท ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายการเติบโตที่ตั้งไว้ที่ 2-4%

“เอสเอ็มอีค่อนข้างล้า หลังจากทนมานาน และเมื่อมาเจอภาวะสถานการณ์ต่าง ๆ ที่หดตัว เงินบาทที่แข็งค่า กำลังซื้อไม่มา เกษตรไม่ดี ก็กระทบไปหมด เราเองก็คาดว่าสินเชื่อสิ้นปีน่าจะโตได้ 1% โดยคงพยายามเร่งในช่วงโค้งท้าย ซึ่งรัฐบาลก็พยายามกระตุ้นทุกด้าน แต่ก็ต้องปล่อยกู้ระมัดระวังมากขึ้น” นายวีรวัฒน์กล่าว

นายวีรวัฒน์กล่าวอีกว่า ในปี 2563 คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) น่าจะเติบโตดีขึ้นจากปีนี้ โดยธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าสินเชื่อรวมเติบโตที่ 4-6% ส่วนแนวโน้มสินเชื่อเอสเอ็มอีน่าจะทรงตัว เพราะความต้องการสินเชื่อ (ดีมานด์) ยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ดี ธนาคารจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าร้านค้ารายเล็กที่ค้าขายบนออนไลน์ และกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการภาครัฐ เป็นต้น

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2563 ธนาคารได้วางกลยุทธ์ในด้านการดูแลลูกค้าและพอร์ตสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี โดยให้ความสำคัญกับการเข้าถึงลูกค้าและดูแลลูกค้าให้มากขึ้น ภายใต้นโยบาย “SMEFighto” เนื่องจากธนาคารรับรู้และเข้าใจถึงสภาวะความกดดัน และความเหนื่อยล้าที่กลุ่มผู้ประกอบการกำลังเผชิญ จึงเร่งสานต่อนโยบายการดำเนินธุรกิจไปได้อย่างคล่องตัว ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยยึดหลักไม่เก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และมีการเปิดเผยรายละเอียดค่าธรรมเนียมเรียกเก็บอย่างชัดเจน

สำหรับปี 2562 ธนาคารมียอดปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีสะสม 9 เดือน อยู่ที่ราว 7 หมื่นล้านบาท เติบโตราว 8% โดยมียอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 1.45% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2

“ธนาคารให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน และพร้อมก้าวไปกับลูกค้า โดยเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารได้ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมลูกค้าเอสเอ็มอี เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับลูกค้า เพื่อให้มีกำไรในการทำธุรกิจมากขึ้น” นางอภิพันธ์กล่าว

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สินเชื่อเอสเอ็มอีในปี 2563 ไม่น่าจะขยายตัวมากจากปีนี้ที่คาดว่าไม่โต เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และผลจากสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐและจีน ทำให้คำสั่งซื้อชะลอและถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ หรือบางรายคู่ค้าไม่ชำระหนี้ ส่วนลูกค้าที่ดีก็เร่งคืนหนี้

“ปีหน้าธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นการเติบโตใหม่ จะไม่เห็นมากนัก โดยธนาคารจะพยายามช่วยเหลือลูกค้าเก่าให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งการประคองลูกค้าผ่านการช่วยเหลือการปรับโครงสร้างหนี้ การยืดอายุการชำระหนี้ เพื่อดูหนี้เอ็นพีแอลและลูกค้าให้สามารถอยู่รอดได้” นายผยงกล่าว

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในระยะต่อไป ธปท.มีแผนจะดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากธุรกิจกลุ่มนี้เป็นรากฐานของประเทศ และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เอ็นพีแอลในระบบแบงก์ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยตัวหลักยังคงมาจากสินเชื่อเอสเอ็มอี ซึ่งไตรมาส 3 สัดส่วนเอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีค่อนข้างสูงอยู่ที่ 4.75% จากยอดเอ็นพีแอลคงค้างอยู่ที่ 2.37 แสนล้านบาท หรือ 50.5% ของยอดเอ็นพีแอลคงค้างทั้งหมด 4.69 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งเซ็กเตอร์ที่เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจะล้อไปกับภาวะเศรษฐกิจ เช่น ค้าปลีก เกษตร และส่งออก เป็นต้น

“เอ็นพีแอลปีนี้ไหลมาจากทุกทิศทุกทาง แต่ตัวหลัก ๆ ยังคงเป็นเอสเอ็มอี เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย โดยตัวเลขในไตรมาส 3 เป็นเอ็นพีแอลเกิดใหม่ 7.18 หมื่นล้านบาท เอ็นพีแอลไหลกลับ (re entry) อยู่ที่ 1.87 หมื่นล้านบาท และอื่น ๆ อยู่ที่ 1.45 หมื่นล้านบาท ทั้งปีคาดว่าเอ็นพีแอลภาพรวมน่าจะปริ่ม ๆ ใกล้ 3% ได้ จะเห็นอยู่ราว ๆ นี้ เพราะแบงก์เองจะมีวิธีการบริหารจัดการ ส่วนปีหน้าก็ยังคงเห็นการเพิ่มขึ้นอยู่” นางสาวกาญจนากล่าว

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ลงจากเดิมที่ 2.8% มาที่ 2.5% เนื่องจากการชะลอตัวของการส่งออกจากผลของสงครามการค้าและเงินบาทที่แข็งค่า รวมถึงการลงทุนโดยรวมที่โตต่ำกว่าประเมิน และยังมีปัจจัยความล่าช้าของการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ส่วนในปี 2563 คาดการณ์จีดีพีขยายตัวที่ 2.7%