KTC ชูกลยุทธ์ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจปี’63 ลุยธุรกิจใหม่เต็มสูบ

การแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ถือเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจพึงกระทำ เพื่อสร้างเครื่องยนต์การเติบโตใหม่ ๆ โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่ง่ายต่อการถูกดิสรัปต์มากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจบัตรเครดิตอย่าง บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ “เคทีซี” ที่พยายามปรับตัวหาโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ อย่างการเข้าสู่ตลาดสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ และ สินเชื่อทะเบียนรถ

โดย “ระเฑียร ศรีมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคทีซี ฉายภาพ “ทิศทางการดำเนินธุรกิจของเคทีซีในปี 2563” ว่า ถึงเวลาแล้วที่เคทีซีจะเริ่มแนวทางที่เป็น “ของแท้” หรือ authenticity ในเวลาที่เหมาะสม ทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในอัตราเร่ง เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยจากนี้ไปจะมุ่งสร้างธุรกิจให้เติบโต ด้วยวิสัยทัศน์

ใหม่สู่การเป็นแพลตฟอร์มการเงินหลักที่อยู่เคียงข้างคนไทยและเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ด้วย 2 แพลตฟอร์มหลัก คือ แพลตฟอร์มการชำระเงิน และ แพลตฟอร์มสินเชื่อรายย่อย มุ่งเน้นจุดแข็ง 3 ประการ ได้แก่ ปลอดภัย รวดเร็ว และสร้างประสบการณ์ที่ดี

ระเฑียร ศรีมงคล”

“เศรษฐกิจในปีหน้า ผมไม่คิดว่าจะดีขึ้น ดังนั้น กลยุทธ์ในขั้นต่อไปถือว่าสำคัญมาก และเคทีซีก็มีกลยุทธ์หลากหลายสำหรับปี 2563 โดยเราอยู่ในตลาด เรามีแรงกดดันที่ต้องโตให้ได้ แต่เป้าหมายในปีหน้าคิดว่าจะบรรลุตามเป้าได้ แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนกับทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา”

เขาบอกว่า เคทีซีจะมุ่งสร้างความพึงพอใจให้กับสมาชิกและคนไทยมากขึ้น และปูพรมขยายธุรกิจใหม่เข้าไปในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยแบบมีหลักประกัน และธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกเหนือจากธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล เพื่อเสนอสินเชื่อให้กับผู้บริโภคได้อย่างหลากหลาย ทั้งสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน, พิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทยอยเปิดให้บริการแล้ว และคาดว่าทั้ง 3 ธุรกิจใหม่นี้จะเริ่มทำกำไรใน 18-24 เดือน นับจากวันที่เริ่มธุรกิจแล้ว

โดยพิโกไฟแนนซ์นั้น ได้ขอใบอนุญาตพิโกพลัสไป 5 บริษัท ขณะนี้ได้รับอนุญาตแล้ว 1 บริษัท คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะได้รับไลเซนส์อีก 4 บริษัทที่เหลือ และสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที

“ระเฑียร” ย้ำว่า ธุรกิจที่เป็น S-curve ใหม่ อย่าง “สินเชื่อเคทีซีพี่เบิ้ม” ที่มีทั้งสินเชื่อทะเบียนรถ และสินเชื่อเงินสด ซึ่งเจาะกลุ่มลูกค้าพนักงานที่มีรายได้ประจำตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป น่าจะทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้ในปีหน้า

นอกจากนี้ ปีหน้าจะเห็นเคทีซีปรับตัวครั้งใหญ่สู่การเป็น “องค์กรคล่องตัว” (agile organism) หรือองค์กรที่มีชีวิต เพื่อให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจให้ตรงและเท่าทันกับความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า

ปี’63 ชูเป้าสูงสเปนดิ้งโต 15%

“พิทยา วรปัญญาสกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคทีซี กล่าวถึงธุรกิจบัตรเครดิตที่เป็นธุรกิจหลัก ว่า ปี 2562 นี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ค่อยดี กำลังซื้อก็ชะลอตัวตาม แต่ในช่วง 3 ไตรมาสยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (สเปนดิ้ง) ยังเติบโตได้ถึง 10% หรือราว 150,000 ล้านบาท และคาดว่าในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ จะหนุนยอดสเปนดิ้งปีนี้เติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10% ส่วนปี 2563 ตั้งเป้าสเปนดิ้งเติบโตที่ 15%

ปีหน้าจะทำตลาดแบบ “Everyone Everyday Everywhere” เพื่อให้ลูกค้าเลือกใช้บัตรเคทีซี “ทุกวันและทุกที่” ทั้งผ่านออนไลน์ การใช้จ่ายที่ร้านค้าในประเทศ หรือต่างประเทศก็ตาม พร้อมยังให้ความสำคัญกับการขยายพันธมิตรร้านค้าให้ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ของสมาชิกมากขึ้น รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการสื่อสารกับสมาชิก

“เป้าหมายปีหน้าเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก เพราะสูงถึง 15% ในขณะที่กำลังซื้อก็ยังซบเซา แต่เราเชื่อว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ด้วยกลยุทธ์และวิธีการตลาดที่จะเปลี่ยนไป”

“สินค้าหลากหลาย” ปั้นโอกาสโต”

ปิยศักดิ์ เตชะเสน” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส เคทีซี กล่าวว่า ความหลากหลายของสินค้าที่บริษัทมีจะตอบสนองลูกค้าได้หลายกลุ่มมากขึ้น ทั้งธุรกิจบัตรที่ตั้งเป้าหมายบัตรเครดิตใหม่ 350,000 ใบ และบัตรกดเงินสด เคทีซี พราว 210,000 ใบ รวมทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่

“สินเชื่อเคทีซีพี่เบิ้ม” ซึ่งจะเน้นที่ช่องทางขายทางออนไลน์มากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการเติบโตที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพให้ทีมในปีหน้าที่เตรียมเจาะกลุ่มลูกค้าที่ถูกต้องและถูกจุดมากขึ้น โดยเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการ

คุมต้นทุน-ระมัดระวังหนี้เสีย

“ชุติเดช ชยุติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน เคทีซี กล่าวว่า คาดว่าปีนี้บริษัทจะทำกำไรเติบโตได้ 9% ใกล้เคียงเป้าที่ตั้งไว้ที่ 10% จากจำนวนสมาชิกบัตรที่มากขึ้น พอร์ตลูกหนี้มีคุณภาพ และการควบคุมต้นทุนการเงินที่ดี สำหรับปีหน้าบริษัทจะมุ่งประกอบธุรกิจเติบโตแบบยั่งยืน ด้วยการบริหารต้นทุนเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการหาต้นทุนที่ต่ำและเพิ่มสัดส่วนของเงินกู้ระยะยาวมากขึ้น

ทั้งนี้ เคทีซีมีแผนที่จะระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยาว 5-10 ปี เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและรองรับการขยายตัวของธุรกิจใหม่อีกราว 11,000 ล้านบาท โดยคาดว่าต้นทุนเงินจะอยู่ที่ราว 3.09%

“คาดว่าในปีหน้าเศรษฐกิจในประเทศจะยังไม่ฟื้นตัว แต่ก็น่าจะยังมีโอกาสตามมา โดยเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ของเคทีซีบางประเภทจะยังดำเนินการได้ด้วยดี ซึ่งปีหน้าบริษัทจะต้องจริงจังกับการให้สินเชื่อและระมัดระวังเรื่องคุณภาพสินเชื่ออย่างมาก”

ปีหน้าคงเป็นอีกปีที่จะพิสูจน์ว่าโมเดลธุรกิจใหม่ของ “เคทีซี” จะไปได้ดีแค่ไหน ในท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงรออยู่