“ไพบูลย์” ชงคลังให้สิทธิลดหย่อนภาษีการทำวิจัยตลาดทุน

FETCO เสนอคลังนับรวบงานวิจัยตลาดทุนเข้าเกณฑ์ R&D เปิดทางโบรกเกอร์รับสิทธิลดหย่อนภาษี 3 เท่าจากงบลงทุน จูงใจนักวิเคราะห์ช่วยกันพัฒนาตลาดทุน

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยในการเสวนา เรื่อง “สร้างคุณค่างานวิจัย เสริมศักยภาพตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืน” ว่า ปัจจุบันการวิจัยเพื่อพัฒนาตลาดทุน โดยเฉพาะการจัดทำบทวิเคราะห์ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ไทยยังทำได้ไม่ครอบคลุมนัก โดยพบว่าจากบจ.ทั้งหมด 700 บริษัทมีเพียง 200 บริษัทเท่านั้นที่มีการจัดทำบทวิเคราะห์ประจำ ขณะที่อีก 100 บริษัทมีการจัดทำบทวิเคราะห์บ้างแต่ไม่ประจำ และอีก 400 บริษัทไม่มีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ใดจัดทำบทวิเคราะห์ให้ครอบคลุม

“บทวิเคราะห์ที่เรามีอยู่ตอนนี้ยังไม่เพียงพอ ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาติลังเลเวลาที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยระยะยาวเพราะเราแทบจะไม่มีบทวิเคราะห์ที่วิเคราะห์ภาพรวมทั้งอุตสาหกรรม หากมีคุณภาพของบทวิเคราะห์อาจไม่เพียงพอต่อสถาบันต่างประเทศหรือมีน้อยมากทำให้เขาต้องลงมาวิเคราะห์เอง เมื่อมีต้นทุนเพิ่มเขาก็ไม่อยากลงทุนในตลาดหุ้นบ้านเรา” นายไพบูลย์กล่าว

ด้านจำนวนนักวิเคราะห์ในปัจจุบันมีจำนวนไม่เพียงพอเช่นกัน โดยนักวิเคราะห์ทั้งระบบของไทยมีอยู่ประมาณ 300 รายเท่านั้น ขณะที่จำนวนบจ.สูงถึง 700 บริษัท และยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในตลาดทุน เช่น ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) อีก 2,000-3,000 สัญญา ดังนั้น จำเป็นต้องเพิ่มบุคลากรส่วนนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ ที่ผ่านมาตราสารหนี้เอกชน (หุ้นกู้) หรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Bond) ยังไม่ได้รับการวิเคราะห์ครอบคลุมเช่นกัน ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจส่งผลต่อความยั่งยืนของการลงทุนในตลาดทุนระยะยาว

ในส่วนของแนวทางการแก้ไขปัญหา นายไพบูลย์ กล่าวว่า ประการแรกสภาธุรกิจตลาดทุนไทยต้องการให้รัฐบาลพิจารณานับการวิจัยในตลาดทุนเข้าเงื่อนไขลดหย่อนภาษีด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยชี้ว่างานวิจัยในตลาดทุนปัจจุบันไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ทั้งๆ ที่ให้ประโยชน์ในการพัฒนาตลาดทุนทันที ขณะที่งานวิจัยที่ให้ประโยชน์แก่ประเทศชาติด้านอื่น เช่น การพัฒนาหุ่นยนต์อาจต้องใช้เวลาในการนำประโยชน์กลับมาใช้กลับได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีจากเงินลงทุนถึง 3 เท่า

“เราอยากให้รัฐบาลให้สิทธิรับเข้าเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีด้าน R&D โดยปัจจุบันงานวิจัยตลาดทุนของโบรกเกอร์ไม่ได้รับสิทธิลดหย่อนทางภาษี แต่มีเพียงงานวิจัยของบจ.เท่านั้นที่สามารถขอรับสิทธิลดหย่อนภาษีได้ เนื่องจากงานวิจัยตลาดทุนไม่ได้รับการรับรองงานวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเราก็ได้มีการเสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รับรองแทน” นายไพบูลย์กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ตลท.และ ก.ล.ต.ได้จับมือกันมอบเงินจำนวนหนึ่งเพื่อสนับสนุนให้บริษัทหลักทรัพย์จัดทำบทวิเคราะห์ให้ครอบคลุมหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากขึ้น โดยตั้งเป้าขยายบทวิเคราะห์ครอบคลุมเพิ่มปีละ 30 บริษัท อย่างไรก็ตาม จะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อจัดทำบทวิเคราะห์ให้ครอบคลุมบริษัทในตลาดได้ทั้งหมด

นายไพบูลย์กล่าวว่า สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเตรียมเสนอกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เพื่อขอทุนพัฒนาและเพิ่มจำนวนบุคลากรในตลาดทุนไม่ว่าจะเป็นนักวิเคราะห์ ผู้แนะนำการลงทุน (IC) เจ้าหน้าที่ดูแลลูกค้า (RM) ไปจนถึงนักลงทุนสัมพันธ์ (IR) โดยแนวคิดเบื้องต้นต้องการเห็นหน่วยงานกลาง หรือสถาบันที่ใช้พัฒนาบุคลากรในตลาดทุนโดยเฉพาะ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวว่า สศค.จะรับข้อเสนอของสภาธุรกิจตลาดทุนไทยไว้พิจารณา โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังให้สิทธิลดหย่อนภาษี 3 เท่าของเงินลงทุน R&D แก่งานวิจัยที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรองของ วช. ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทและนิติบุคคลมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบ้างแต่ยังไม่มาก ขณะที่งานวิจัยของโบรกเกอร์ที่ผ่านมาอาจจะยังไม่เข้าเกณฑ์ของ วช.