“อีไอซี” ชี้ 4 ปัจจัยเสี่ยง กด “ดอกเบี้ยต่ำ” ตลอดปี’63

สัมภาษณ์

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 18 ธ.ค.นี้ ทุกสำนักมองไปในทางเดียวกันว่า น่าจะ “ไม่มีการลด” อัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% ต่อปี

ส่วนแนวโน้มปี 2563 ทิศทางดอกเบี้ยของไทยจะเป็นอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “ดร.ยรรยง ไทยเจริญ” รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ไว้ มานำเสนอดังนี้

ปี’62 กนง.คงดอกเบี้ยที่ 1.25%

เขาประเมินว่า รอบนี้ กนง.น่าจะคงดอกเบี้ย เพราะตัวเลขเศรษฐกิจภายในประเทศ ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ยังมีแนวโน้มอ่อนแอต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยภายนอก ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพิ่งคงดอกเบี้ย และส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยน่าจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งตลาดคาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยตลอดไปจนถึงปี 2563 หรืออาจลดดอกเบี้ยอย่างมากอีก 1 ครั้งในปีหน้า รวมถึงเพิ่งมีปัจจัยบวกเรื่องข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และการเลือกตั้งสหราชอาณาจักรที่ชัดเจนแล้ว

ทั้งนี้ คาดว่า กนง.น่าจะรอดูผลการส่งผ่านนโยบาย รวมถึงผลของนโยบายการคลังจากมาตรการกระตุ้น ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็คงพยายามผลักดันให้มาตรการสนับสนุนการออกไปลงทุนในต่างประเทศ 4 ด้านเกิดผลในทางปฏิบัติมากขึ้นก่อนด้วย

4 ปัจจัยเสี่ยงกระทบดอกเบี้ย

สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยปี 2563 “ดร.ยรรยง” บอกว่า การคาดการณ์ต้องประเมิน 4 ด้าน คือ อัตราเงินเฟ้อ, การขยายตัวของเศรษฐกิจ, เสถียรภาพระบบการเงิน และค่าเงินบาท ซึ่งทั้งหมดยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ จึงมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องตลอดปีหน้า โดยมีโอกาสที่จะปรับลดลงได้ 1 ครั้งช่วงครึ่งแรกของปี

“ดอกเบี้ยคงลงได้อีกไม่มาก คงอยู่ในช่วง 1-1.25% เพราะว่าค่อนข้างต่ำมากแล้ว ซึ่งการลดดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ ข้อดีจะมีจำกัด แล้วอาจจะมีผลลบด้วย ดังนั้น กนง.จะต้องชั่งน้ำหนัก”

โดยปัจจัยด้านเงินเฟ้อนั้น ปีหน้าเงินเฟ้อน่าจะมีโอกาสที่จะต่ำกว่าเป้าหมายต่อเนื่องจากปีนี้ คือ มีความเสี่ยงโตไม่ถึง 1% จากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มเรื่องอุปทานเชลล์ออยล์ รวมถึงเงินเฟ้อพื้นฐานที่สะท้อนแรงกดดันด้านอุปสงค์ ยังน่าจะซบเซาต่ออีกปี เพราะว่าการว่างงานยังเพิ่ม ค่าแรงก็คงขึ้นไม่มาก และภาคธุรกิจก็คงไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าในภาวะที่เศรษฐกิจยังซบเซาอยู่

ขณะที่ปัจจัยด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทาง EIC มองจีดีพีปีหน้าโต 2.7-2.8% ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพ และยังมีความเสี่ยงด้านต่ำลงได้ไปอีก ส่วนด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ปีหน้าความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนน่าจะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ การเข้าถึงสินเชื่อที่อาจจะยากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินจะระมัดระวังมากขึ้น และมาตรการ macro prudential ของ ธปท.

“ปีหน้า ความกังวลน่าจะไปอยู่ที่เรื่องคุณภาพสินเชื่อ จากหนี้ที่เคยเพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ อาจจะยังมีแนวโน้มด้อยคุณภาพลงเพิ่มเติม ทั้งสินเชื่อครัวเรือนและสินเชื่อเอสเอ็มอี ดังนั้น จึงยังต้องการดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อช่วยประคับประคองคนที่มีหนี้อยู่แล้ว”

สุดท้าย ปัจจัยด้านค่าเงินบาท ก็ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ เพราะค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่ง เพราะปีหน้าไทยยังมีแนวโน้มเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ประมาณ 6% ของจีดีพี

การลดดอกเบี้ยเริ่มหมด “ข้อดี”

“ดร.ยรรยง” กล่าวว่า การจะลดดอกเบี้ยอีก จะเริ่มมีข้อดีจำกัดแล้ว เพราะขณะนี้ดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์แล้ว แถมประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงิน ก็มีข้อจำกัดพอสมควร เห็นได้ชัดจากที่ลดดอกเบี้ยแล้วค่าเงินบาทยังแข็งค่า ทั้ง ๆ ที่ตามทฤษฎีน่าจะให้ค่าเงินบาทอ่อน เนื่องจากปัจจุบันไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ผู้ออมและนักลงทุนไทยยังไม่ค่อยออกไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งมาตรการที่ ธปท.ออกมา ยังต้องใช้เวลา ขณะที่การจะกระตุ้นอุปสงค์โดยการลดดอกเบี้ย ก็มีข้อจำกัด เพราะตอนนี้สินเชื่อมีแนวโน้มชะลอลง จากเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้ภาคธุรกิจไม่ได้ใช้สินเชื่อมาก ส่วนภาคครัวเรือนก็มีหนี้ครัวเรือนในระดับสูงมากแล้ว คงจะไม่สามารถกู้เพิ่มได้มาก ซึ่งสถาบันการเงินก็ระมัดระวัง

ส่วนในทางตรงกันข้าม หากลดดอกเบี้ยมากไปก็อาจจะมีข้อเสีย โดยการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านดอกเบี้ยต่ำ อาจจะนำไปสู่ผลตรงกันข้าม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่พึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากเป็นหลัก เช่น คนสูงอายุ ที่อาจจะเลือกลดการใช้จ่าย แล้วออมมากขึ้นแทน รวมถึงความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงผลตอบแทนสูง (search for yield) โดยไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ ดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ ก็มีนัยต่อการกระจายรายได้ด้วย เพราะคนที่มีรายได้สูงก็สามารถปรับตัวไปลงทุนสินทรัพย์ทางเลือกต่าง ๆ ได้ดีกว่าผู้มีรายได้น้อย

ต้องประสาน 3 นโยบายอุ้ม ศก.

“ดร.ยรรยง” เชื่อว่า ธปท.น่าจะอยากเห็นการผสมผสานนโยบาย 3 ด้านในการดูแลเศรษฐกิจ คือ 1.นโยบายการเงิน 2.นโยบายการคลัง ที่รัฐยังมีช่องว่างในการกู้มาใช้จ่ายเพื่อดูแลเศรษฐกิจได้ และ 3.มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ

“หลาย ๆ เรื่องที่เข้ามากระทบกับเศรษฐกิจรอบนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องอุปสงค์ชะลอตัว แต่มีเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะแรงงาน หรือการปรับตัวของเอสเอ็มอี ดังนั้น เชื่อว่าการปฏิรูป โดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มทักษะให้กับแรงงานไทย และการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะเป็นเรื่องสำคัญ เชื่อว่า กนง.คงไม่อยากให้เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพานโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว เพราะจะไม่สมดุลและไม่ยั่งยืน” ดร.ยรรยงกล่าว

ปีหน้าคงเป็นอีกปีที่การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ “ไม่ง่าย” และคงต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิด