ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ขณะที่กนง.คงดอกเบี้ยและหั่นคาดการณ์ GDP ลง

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศระหว่างวันที่ 16-20 ธันวาคม 2562 สำหรับค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (16/12) ที่ระดับ 30.19/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (13/12) ที่ระดับ 30.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังสหรัฐกับจีนประกาศบรรลุการทำข้อตกลงการค้าขั้นแรก ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐปรับลดภาษีนำเข้าบางรายการที่เรียกเก็บจากสินค้าจีน และส่งผลให้สหรัฐระงับแผนการเริ่มเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนมูลค่า 1.60 แสนล้านดอลลาร์ในวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้สหรัฐได้ตกลงที่จะปรับลดอัตราภาษีนำเข้าลงครึ่งหนึ่ง จากเดิม 15% สู่ 7.5% สำหรับสินค้าจีนมูลค่า 1.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่บังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายน 62 ขณะที่จีนตกลงเรื่องการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพิ่มขึ้น โดยคาดกันว่าผู้เจรจาต่อรองหลักทั้งสองประเทศจะลงนามในข้อตกลงนี้ที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคมปีหน้า ขณะเดียวกันค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันจากตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐประจำเดือนพฤศจิกายนที่ออกมาอ่อนแอ โดยยอดค้าปลีกเบื้องต้นของสหรัฐขยายตัวเพียง 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน จากที่ขยายตัว 0.4% ในเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 0.5% ขณะที่ 0.5% ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ โดยไอเอชเอส มาร์กิต ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52.2 ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน จากระดับ 52.0 ในเดือนพฤศจิกายนใกล้เคียงกับตลาดคาดการณ์ โดยดัชนี PMI ได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน

อย่างไรก็ดีในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยหลังสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วย 2 ข้อหา ประกอบด้วย 1.การใช้อำนาจในทางมิชอบ โดยลงมติด้วยคะแนนเสียง 230 ต่อ 197 เสียง และ 2.การใช้อำนาจในทางมิชอบ และขัดขวางกระบวนการสอบสวนของสภาคองเกรส โดยมีมติด้วยคะแนนเสียง 129 ต่อ 198 ในมติถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็นประธานาธิบดีรายที่ 3 ที่ถูกสภาคองเกรสพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ดีนักลงทุนจับตาดูการลงมติของวุฒิสภาสหรัฐ ในการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์อีกครั้งในช่วงเดือนมกราคมปีหน้า

สำหรับตัวเลขในช่วงปลายสัปดาห์กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่าจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 18,000 ราย สู่ระดับ 234,000 ราย ส่วนตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐ ปรับตัวลดลง 0.9% สู่ระดับ 1.21 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 3 โดยการลดลงของตัวเลขดังกล่าวได้รับแรงกดดันจากการลดลงของการนำเข้าน้ำมัน

สำหรับปัจจัยในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติด้วยเสียงเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ตามตลาดคาดการณ์ โดยคณะกรรมการเห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย นอกจากนี้ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีดี) ปีนี้ลงมาที่ 2.5% จากเดิม 2.8% พร้อมปรับลดคาดการณ์การส่งออกสู่ระดับ -3.3% จากเดิมที่ -1% และลดคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปีนี้สู่ระดับ 0.7% จากเดิม 0.8% พร้อมกังวลภาวะเงินบาทที่ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด พร้อมมีเครื่องมือที่จะนำมาใช้ดูแลหากจำเป็น ทั้งนี้ค่าเงินบาทมีกรอบเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.17-30.27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (20/12) ที่ระดับ 30.19/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (16/12) ที่ระดับ 1.1125/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/12) ที่ระดับ 1.1175/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังนายบอริส จอห์นสัน พรรคอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้งในอังกฤษด้วยคะแนนเสียงล้นหลาม ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่นายจอห์นสันจะสามารถผลักดันให้สหราชอาณาจักรแยกตัวจากสหภาพยุโรปแบบมีข้อตกลงได้สำเร็จในเดือนมกราคมปีหน้า อย่างไรก็ดี การที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษเตรียมออกกฎหมายป้องกันไม่ให้มีการขยายเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านของอังกฤษหลังจากแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) เกินสิ้นปี 2563 เพื่อกดดันให้ EU เร่งบรรลุข้อตกลงทางการค้านั้น เริ่มสร้างความไม่มั่นใจว่าอังกฤษจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหภาพยุโรปได้ทันโดยค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1106-1.1175 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (20/12) ที่ระดับ 1.1115/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (16/12) เปิดตลาดที่ระดับ 109.37/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/12) ที่ระับ 109.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานเบื้องต้นว่า ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 8.21 หมื่นล้านเยน (749 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 2 เดือน ซึ่งยอดส่งออกของญี่ปุ่นลดลง 7.9% ในเดือนพฤศจิกายน โดยสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ -0.1 รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ร้อยละ 0.0 แม้ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะมีสัญญาณของการชะลอตัวลงนับตั้งแต่ที่ได้มีการปรับขึ้นภาษีอุปโภคบริโภคเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์เคลื่อนไหวระหว่าง 109.17-109.67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (20/12) ที่ระดับ 109.28/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ