แบงก์แห่ขาย NPL เคลียร์พอร์ต คาดปี’63 เทกระจาดอีกกว่า 1 แสนล้านบาท

แบงก์แห่ขายหนี้เสียข้ามปี “ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” เผยปี”62 แบงก์แก้เอ็นพีแอลเชิงรุกมากขึ้น-ยอด “เอ็นพีแอลลดลงต่อไตรมาส” เพิ่มเป็น 8.45 หมื่นล้านบาท จากปี’61 อยู่ที่ 7.1 หมื่นล้านบาท เชื่อโค้งสุดท้ายปีนี้ยิ่งเร่งขาย ฝั่งธุรกิจ “เอเอ็มซี” รับอานิสงส์เต็ม ๆ “นิยต” คาดปีหน้าแบงก์ขายเอ็นพีแอลไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท “SAM-BAM-JMT`” ขยับเพิ่มวงเงินรับซื้อ

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงไตรมาส 4 นี้ สถาบันการเงินมีการดูแลบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เชิงรุกกันมากขึ้น สะท้อนได้จากตัวเลขการเปลี่ยนแปลงเอ็นพีแอล (NPL decrease) ที่ลดลงระหว่างไตรมาสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 8.45 หมื่นล้านบาท จากปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 7.10 หมื่นล้านบาท

กาญจนา โชคไพศาลศิลป์

โดยเฉพาะไตรมาส 3 ที่ผ่านมา พบว่า ระบบแบงก์มีเอ็นพีแอลไหลออกอยู่ที่ 8.61 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น การปรับโครงสร้างหนี้ 1.72 หมื่นล้านบาท และเหตุผลอื่น ๆ 6.89 หมื่นล้านบาท ซึ่งในเหตุผลอื่น ๆ จะมาจากวิธีบริหารจัดการที่หลากหลาย ส่วนหนึ่งก็คือ การตัดหนี้ขาย ปรับเป็นหนี้ปกติ การขายหลักประกันชำระหนี้ การโอนหนี้ ฯลฯ

ส่วนแนวโน้มเอ็นพีแอลในปี 2563 น่าจะทะลุ 3% หรือสูงสุดในรอบ 8 ปีครึ่ง (34 ไตรมาส) นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2554 แต่คาดว่าแบงก์จะสามารถบริหารจัดการเอ็นพีแอลให้อยู่ต่ำกว่า 3% ได้ ผ่านวิธีการบริหารเอง หรือการตัดขายหนี้ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี)

“เอ็นพีแอลเพิ่มชัดเจนขึ้น ทำให้ไตรมาส 4 แบงก์ต้องบริหารจัดการเอ็นพีแอลเชิงรุกมากขึ้น สะท้อนผ่านตัวเลขเอ็นพีแอลที่ลดลงต่อไตรมาสเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และในปี 2563 คาดว่าเอ็นพีแอลจะกลับมาสูงสุดในรอบ 34 ไตรมาส”

นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) กล่าวว่า แนวโน้มเอ็นพีแอลในปี 2563 ยังคงไหลเข้ามาในระบบไม่น้อยกว่าปีนี้ โดยน่าจะไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามสภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวที่เอ็นพีแอลจะเป็นวัฏจักรขาขึ้น โดย SAM ตั้งวงเงินในการรับซื้อหนี้ไว้ที่ 1-2 หมื่นล้านบาทในปีหน้า จากปีนี้ที่สามารถรับซื้อหนี้ได้ตามเป้าหมายที่ 1.5-2 หมื่นล้านบาท

สำหรับพอร์ตหนี้ที่บริษัทรับซื้อมา ส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อกลุ่มที่มีหลักประกัน ทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สินเชื่อรายใหญ่ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ผ่อนชำระตามศักยภาพมากขึ้น จากเดิมที่เน้นตัดขายหนี้และปิดบัญชี ซึ่งบริษัทจะบริหารจัดการพอร์ตตามศักยภาพลูกค้าเป็นหลัก โดยประคองและให้โอกาสลูกค้าผ่อนชำระเฉลี่ยตั้งแต่ 2-7 ปี

“ปีหน้าเรายังคงตั้งเป้ารับซื้อหนี้ในจำนวนมากเหมือนเดิม โดยเน้นซื้อในราคาที่เหมาะสม และเมื่อซื้อมาแล้วต้องพัฒนาให้เร็ว โดยใช้เครื่องมือเทคโนโลยีเข้ามาช่วย” นายนิยตกล่าว

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) กล่าวว่า ในปี 2563 BAM มีแผนจะซื้อเอ็นพีแอลและทรัพย์สินรอการขาย (NPA) เข้ามาบริหารเพิ่ม ไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท หรือไม่ต่ำกว่าสินทรัพย์ที่ซื้อเข้ามาบริหารในปี 2562 โดยคาดว่าจะช่วยหนุนให้ผลการดำเนินงานในปีหน้าสามารถทำรายได้ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) กล่าวว่า ในปี 2563 บริษัทตั้งวงเงินรับซื้อพอร์ตหนี้ที่ 4,500-5,000 ล้านบาท จากปีนี้น่าจะทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 4,500 ล้านบาท เนื่องจากแบงก์ยังคงขายพอร์ตเอ็นพีแอลออกมาต่อเนื่อง ซึ่งปีหน้าบริษัทตั้งเป้าการเติบโตของกำไรไว้ที่ 27% โดยการแข่งขันในตลาดคงไม่ได้รุนแรงขึ้น เพราะทุกบริษัทก็เน้นบริหารจัดการพอร์ตที่รับซื้อมาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

“ไตรมาส 4 ปีนี้ แบงก์คงเร่งเทขายหนี้เอ็นพีแอลออกมาก่อนจะสิ้นปี โดยในช่วงหลัง ๆ มานี้ แบงก์ค่อนข้างทำการบ้านดี ไม่เทขายทีเดียว แต่จะทยอยปล่อยออกมา เพื่อบริหารพอร์ต ซึ่งในปีหน้าเราก็มองว่าบรรยากาศน่าจะเหมือนปีนี้ โดยเราตั้งวงเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 4,500-5,000 ล้านบาท” นายสุทธิรักษ์กล่าว