3 แบงก์รัฐอ่วมเอ็นพีแอลขาขึ้น มอนิเตอร์กลุ่มเสี่ยง-เร่งปรับโครงสร้างหนี้

“ธอส.-ออมสิน-ธ.ก.ส.” เผชิญภาวะเอ็นพีแอลขาขึ้น “ธอส.” เผย 11 เดือนอยู่ที่ 4.48% คาดถึงสิ้นปีแก้ไม่ได้ตามเป้า เหตุปล่อยกู้ลูกค้ากลุ่มเปราะบางกว่าแบงก์อื่น-กลุ่ม SM อยู่ที่ 6% ชี้ปีหน้าเอ็นพีแอลยังเพิ่มตามภาวะตลาด “ออมสิน” เอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.89% เร่งแก้ให้เหลือ 2.8% ในสิ้นปีนี้-ติดตามกลุ่ม SM ใกล้ชิด ฟาก ธ.ก.ส.อ่วมเกษตรกรลูกค้าเจอทั้ง “ภัยธรรมชาติ-เศรษฐกิจชะลอ-ราคาพืชผล” 8 เดือนแรกเอ็นพีแอลแตะ 4.45% เพิ่มจากต้นปีอยู่ที่ 3.7% แจงลดลงแล้ว-ไตรมาสแรกหนักกว่านี้

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2562 หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของ ธอส.เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จาก ณ สิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ 4.4% หรือราว 4.8 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 4.48% หรือประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท โดยปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายควบคุมเอ็นพีแอลไม่ให้เกิน 4% แต่ยอมรับว่าคงทำไม่ได้ตามเป้า อย่างไรก็ดี จะเร่งบริหารจัดการลดเอ็นพีแอลให้เหลือ 4.3% ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนแนวโน้มปี 2563 คาดว่าเอ็นพีแอลคงจะเพิ่มขึ้นอีกตามภาวะตลาด ซึ่งธนาคารตั้งเป้าหมายให้เอ็นพีแอลปีหน้าอยู่ที่ 4.15%

“สาเหตุที่เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้ต่างไปจากตลาด โดยทั้งตลาดมีเอ็นพีแอลสูงหมด ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ชี้แจงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปแล้วว่า แม้เอ็นพีแอลจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ลูกค้าที่ ธอส.มีภารกิจต้องดูแลเป็นกลุ่มเปราะบางกว่ากลุ่มลูกค้าแบงก์อื่น เป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่เวลากู้จะขอกู้เต็มเพดาน ซึ่งเมื่อมีปัจจัยต่าง ๆ เข้ามากระทบ ก็จะส่งผลต่อคุณภาพหนี้ เช่น กลุ่มคนทำงานในนิคมอุตสาหกรรม หรือโรงงานอุตสาหกรรม ที่เริ่มเห็นถูกลดเวลาในการทำงานล่วงเวลา (โอที) ลง” นายฉัตรชัยกล่าว

นายฉัตรชัยกล่าวด้วยว่า ส่วนลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ หรือค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (SM) ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 6% โดยในต้นปี 2563 ธนาคารจะมีมาตรการมาดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ ด้วยการใช้ระบบไอทีเข้าไปตรวจจับการเคลื่อนไหวของลูกหนี้ในแต่ละราย พยายามดูแลไม่ให้กลายเป็นเอ็นพีแอล โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการช่วยปรับโครงสร้างหนี้และผลักดันให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวเป็นหนี้ชั้นที่ 1 ได้

“ธนาคารจะพยายามเข้าไปช่วย เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารเป็นกลุ่มเปราะบาง ไม่ใช่ลูกค้ากลุ่มที่วิเคราะห์สินเชื่อต่ำเกินปกติ แล้วมีเกณฑ์ผ่อนปรน ส่วนกลุ่มลูกค้าที่เป็นเอ็นพีแอลไปแล้วนั้น ธนาคารจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการขายเอ็นพีแอลให้ลูกค้าที่ต้องการขาย เพื่อให้หนี้เสียของแบงก์ลดลงได้เร็วขึ้น” นายฉัตรชัยกล่าว

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า เอ็นพีแอลของธนาคารมีอยู่ประมาณ 2.89% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากต้นปี 2562 ที่อยู่ที่ 2.81% ถือว่าต่ำกว่าระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีเอ็นพีแอลเฉลี่ยที่ 3.5% อย่างไรก็ดี หากเทียบกับช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้ที่เอ็นพีแอลของออมสินทรงตัวอยู่ระดับ 2.9% ถือว่าขณะนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงแล้ว และภายในเดือน ธ.ค.นี้ นาคารจะแก้ไขเอ็นพีแอลให้ลดลงเหลือ 2.8%

ส่วนปี 2563 คาดว่าเอ็นพีแอลของธนาคารจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่จะอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เกิน 3% ทั้งนี้ ธนาคารสามารถควบคุมเอ็นพีแอลได้ เนื่องจากไม่ได้มีลูกค้ากลุ่มเสี่ยง ส่วนใหญ่ลูกค้าธนาคารเป็นกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่กลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีก็ไม่ได้น่าเป็นห่วง เนื่องจากพอร์ตยังอยู่แค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น และสินเชื่อปล่อยใหม่ก็ยังไม่พบเป็นเอ็นพีแอล

“ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารมีการติดตามและปรับโครงสร้างแก้ไขหนี้อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เอ็นพีแอลลดลงได้ประมาณ 800-900 ล้านบาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังมีลูกค้าในกลุ่ม SM อยู่ประมาณ 2-3% ถือว่าตัวเลขไม่ได้แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ซึ่งธนาคารก็มีการติดตามลูกค้ากลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดทุก ๆ เดือน เพื่อดูแลไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย” นายชาติชายกล่าว

นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2562 เอ็นพีแอลของ ธ.ก.ส.อยู่ที่ 4.45% เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 2562 (1 เม.ย. 62) ที่อยู่ที่ 3.7% อย่างไรก็ดี เอ็นพีแอลระดับดังกล่าวลดลงจากช่วงเดือน ต.ค. 2562 ที่อยู่ที่ 4.48% จากยอดสินเชื่อทั้งหมด 1.4 ล้านล้านบาท เพราะเป็นช่วงที่เกษตรกรประสบปัญหาทางภัยธรรมชาติ เศรษฐกิจชะลอ และปัญหาราคาพืชผล ซึ่งธนาคารได้มีการเข้าไปดูแลด้วยวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้า จึงถือได้ว่าขณะนี้เอ็นพีแอลของธนาคารมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีบัญชี (สิ้น มี.ค. 2563) เอ็นพีแอลจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.66%


“คาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีบัญชี 2562 (ม.ค.-มี.ค. 63) สถานการณ์เอ็นพีแอลน่าจะดีขึ้น เนื่องจากธนาคารจะมีการกระจายเม็ดเงินลงไปตามโครงการต่าง ๆ ในช่วงไตรมาสสุดท้าย เพราะเป็นช่วงที่เกษตรกรทั่วไปจะเริ่มเตรียมการสำหรับฤดูกาลใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อการชำระหนี้ของเกษตรกรได้ดีขึ้น” นายสมเกียรติกล่าว