มุมมองการลงทุนปี 2020 และคำแนะนำ

การลงทุน

คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก

โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม บลจ.วรรณ

เดือนก่อนหลังจากที่ผมเขียนบทความว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ขณะนี้ข้อมูลเศรษฐกิจที่เป็นดัชนีชี้นำบางส่วนเริ่มส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจโลกผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจากนี้ไปคือการฟื้นตัว

แต่การฟื้นตัวจะเป็นอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่งหรือไม่ ผมมองได้แค่ 6 เดือนจากนี้ไปเท่านั้นเองว่า เศรษฐกิจโลกจะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ภาพที่ยาวกว่านั้น เช่น ครึ่งหลังปี 2020 จะเป็นเช่นใด ผมเองก็บอก (ด้วยความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจมากกว่า 90%) ไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจโลกปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมมาก ผมนึกถึงงานแรกของผมในสายงานการเงินการลงทุนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน คือ การเป็นนักเศรษฐศาสตร์คอยอ่านและพยากรณ์ประเมินภาวะเศรษฐกิจ ตอนนั้นเศรษฐกิจโลกมีความซับซ้อนพอสมควร แต่ยังพออ่านได้ว่าแนวโน้มในระยะกลาง หรือประมาณ 1-3 ปีเป็นเช่นใด ด้วยความเชื่อมั่นประมาณ 95% ขึ้นไปได้บ้าง มาในปัจจุบัน ถ้าให้ประเมินภาพในระยะกลางว่าเศรษฐกิจโลกจะเป็นเช่นใด ผมมีความมั่นใจประมาณ 50-60% เท่านั้นเอง ซึ่งดีกว่าการคาดเดาไม่มาก หรือไม่ต่างจากการเดา

ถ้าผู้อ่านจำได้ 4-5 เดือนก่อนในบทความนี้ ผมได้แสดงความกังวลอย่างมากต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และทรุดหนักโดยเฉพาะจากการชะลอลงของภาคบริการ ซึ่งเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมากและเป็นเสาหลักค้ำเศรษฐกิจโลกไว้ เพราะบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกชะลอการผลิตกันหมด มาขณะนี้ ตั้งแต่เดือน พ.ย. ผมประเมินว่าภาคการผลิตทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 กลับมาเดินหน้าการผลิตกันใหม่ ผลคือเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นจะเป็นรูปตัว V ซึ่งคงจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้มากกว่า 3% ต่อปี แต่จะสูงไปถึง 3.4% ต่อปีขึ้นไปหรือไม่ ยังมีปัจจัยที่คาดการณ์ไม่ได้ โดยทิศทางนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐต่อจีน ซึ่งในปีหน้าจะเป็นปีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งขณะนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์จะได้รับการเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง

ในภาพการลงทุนปีหน้า ผมมีมุมมองและคำแนะนำ ดังนี้

1) เศรษฐกิจโลกปีหน้าฟื้นตัวชัดเจนเมื่อเทียบกับปีนี้ที่ชะลอลงมาก แต่ภาพระยะกลาง (1-3 ปีข้างหน้า) เรายังอยู่ในปลายวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเปราะบางต่อปัจจัยต่าง ๆ ดังที่ผมเล่าในบทความตอนก่อนว่า ภาคการผลิตทั่วโลกมีศักยภาพในการปรับลดการผลิตตัวเองได้ทันที (ปรับได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะการผลิต) ถ้ามีปัจจัยลบที่มีน้ำหนักมากพอ ภาคการผลิตทั่วโลกและอาจจะรวมถึงผู้บริโภค พร้อมลดการผลิต การบริโภคลงพร้อม ๆ กันทันที ซึ่งจะกดดันให้เศรษฐกิจชะลอลงมากด้วยขนาดและความเร็วเกินกว่าที่ใครจะคาดการณ์ได้

2) ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกยังอยู่ในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย ในแง่นี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ดูจะมีความมุ่งมั่นในการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากกว่าประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ผลคือในเชิงเศรษฐกิจและการลงทุน นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเหมือนกับการประคองเศรษฐกิจ (ถ้าชะลอตัวให้ชะลอตัวอย่างนิ่มนวล) และหนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัว (ถ้าเศรษฐกิจเป็นขาขึ้นให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น) ในครึ่งแรกของปีหน้า เมื่อคำนึงว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว นโยบายการเงินผ่อนคลายเช่นนี้จะหนุนเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัวดี (ในเงื่อนไขความสัมพันธ์จีนและสหรัฐไม่เลวร้ายลงกว่าปัจจุบัน)

3) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและธุรกิจที่อาศัย platform ระบบอินเทอร์เน็ต เป็นฐานหลักในการทำธุรกิจ จะก้าวหน้าในอัตราเร่งกว่าเดิมมาก เพราะโลกกำลังก้าวเข้าสู่ 5G ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความเร็วของการทำธุรกิจบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และสามารถนำระบบประมวลผลอัจฉริยะต่าง ๆ (AI and machine learning) มาหนุนเสริมได้เป็นอย่างดี เราจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ อีกจำนวนมาก จนทำให้บทบาทของมนุษย์ในการผลิตสินค้าและบริการลดลงไปมาก ความกลัวว่ามนุษย์จะสู้เครื่องจักรไม่ได้จะเพิ่มความกังวลมากยิ่งขึ้น เมื่อได้เห็นว่าในยุค 5G คอมพิวเตอร์และ platform อินเทอร์เน็ตทำอะไรได้เหนือกว่ามนุษย์บ้าง

4) ในเชิงคำแนะนำของการลงทุน ด้วยความที่เศรษฐกิจและเทคโนโลยีมีความซับซ้อนและก้าวหน้าในอัตราเร่งอย่างมากดังที่กล่าวมาในข้างต้น นักลงทุนควรจะต้องมีพอร์ตการลงทุนหลัก (60-75% ของเงินลงทุน) ของพอร์ตที่รับมือกับความผันผวนของตลาดด้วยสินทรัพย์ที่ปลอดภัย มีพื้นฐานดี ซึ่งคือตราสารหนี้และพันธบัตรภาครัฐ รวมทั้ง REITs และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานและหุ้นที่จ่ายเงินปันผลหรือกระแสเงินสดสม่ำเสมอ