แม่ทัพใหม่ CIMBT ลุยสนามรบดิจิทัลแบงกิ้ง 100%

สัมภาษณ์

หลังได้รับแต่งตั้งจาก “กลุ่มซีไอเอ็มบี” ให้ก้าวขึ้นมาเป็นแม่ทัพตัวจริง ตั้งแต่ 19 ต.ค. 2562 “อดิศร เสริมชัยวงศ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จึงเปิดตัวให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างเป็นทางการเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อประกาศแผนธุรกิจปี 2563 ที่กำลังจะขับเคลื่อนต่อไปนับจากนี้

เข้าสู่เกมดิจิทัลแบงกิ้งเต็มที่

“อดิศร” ฉายภาพว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์อยู่ช่วงการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลจากเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปต์ แต่ “ซีไอเอ็มบี ไทย” ปรับตัวเร็ว โดยทยอยปรับตัวมาก่อน ซึ่งทุก ๆ วันจะต้องคิดหาวิธีใหม่ ๆ เพื่อให้บริการลูกค้าอย่างตรงจุด ตรงใจ และถูกคน รวมถึงทำให้พนักงานก้าวทันความเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลังจากแบงก์ได้วางโครงสร้างพื้นฐานและทำงานเกี่ยวกับดิจิทัลอย่างเต็มที่ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ในปี 2563 นี้ จะได้เห็นบริการด้าน “ดิจิทัลแบงกิ้ง” อย่างชัดเจน เมื่อผสานกับจุดแข็งด้าน ASEAN จึงเกิดเป็นยุทธศาสตร์ “Digital Bank with ASEAN Reach” ขึ้นมา

“วันนี้ธุรกิจธนาคาร ทุกคนต่างได้ผ่านกระบวนการดิสรัปชั่นจากดิจิทัลแพลตฟอร์มกันหมด เราจะฉีกให้มากขึ้น โดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้ง โลกวันนี้มีการเข้าถึงแบบไร้ขีดจำกัด เราตั้งเป้าหมายว่าต้องพาลูกค้าให้เข้าถึงบริการที่ดีที่สุด ทำธุรกรรมทางการเงินทุกอย่างจากที่ใดในโลกก็ได้ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องมาสาขา ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย”

เขาบอกว่า ต้องทำให้ธนาคารมีธุรกรรมการเงินตอบโจทย์ลูกค้าด้วย “Best CX Bank” หรือธนาคารที่สร้างประสบการณ์ลูกค้าที่ดีที่สุด เริ่มตั้งแต่ลูกค้ารายย่อย โดยตั้งเป้าเป็นธนาคารที่ให้บริการด้วย “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม 100%” ลูกค้าไม่ต้องไปสาขา แต่ทำทุกอย่างได้บนสมาร์ทโฟน ซึ่งธนาคารสามารถใช้ข้อมูลวิเคราะห์ และจำแนกกลุ่มลูกค้า เพื่อคิดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมได้ ซึ่งสาขาก็ยังคงมีอยู่ แต่จะลดลงเหลือ 50 แห่งในปีนี้จากปี 2562 มี 69 แห่ง

“อดิศร” เล่าว่า ขั้นตอนสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม 100% นั้น ในปีแรก จะทำเรื่องข้อมูลบัญชีลูกค้า ขั้นต่อไป หากการยืนยันตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (NDID) เริ่มใช้ได้ ก็จะมีทั้งการเปิดบัญชีออนไลน์ การลงทุนในตราสารหนี้ การจองหุ้นกู้หรือขาย ซึ่งจะมีผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งธนาคารตั้งเป้าลูกค้าใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มให้ได้ 5 แสนราย จากปัจจุบันมีผู้ใช้แค่ 5 หมื่นราย

ดิจิทัลหนุนเป้าสินเชื่อโต 10%

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ “อดิศร” มองว่า คงไม่ได้ขยายตัวมากนัก น่าจะเติบโตที่ระดับ 2.7% ต่อปี ไม่ได้แย่มาก เพียงแต่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามและระมัดระวังทั้งในและต่างประเทศ เช่น สงครามการค้า ค่าเงินบาท เป็นต้น

โดยปี 2563 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรวมเติบโต 10% จากสินเชื่อรายย่อยที่น่าจะโตได้ 8% สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่โต 12-13% และตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่ม 7,000-8,000 ล้านบาท จะมาจากช่องทางออนไลน์ประมาณ 40% ซึ่งเป้าสินเชื่อออนไลน์ (ดิจิทัลเลนดิ้ง) จะโต 42% จากปี 2562 ที่โตได้ 14%

“รายย่อยโตน้อย เพราะสินเชื่อบ้านโตช้าลง จากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว ส่วนสินเชื่อรายใหญ่ ธนาคารต้องการเป็น ‘Go-To Bank For ASEAN Solution’ จะช่วยลูกค้าขยายการลงทุนออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้เครือข่ายที่มีอยู่ เช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา ที่มีโอกาสทางธุรกิจค่อนข้างมาก รวมถึงการเป็นธนาคารด้านธุรกรรมฝาก ถอน โอน จ่าย ผ่านการเชื่อมต่อเครือข่ายการโอนเงินไปต่างประเทศ ซึ่งล่าสุดธนาคารสามารถทำธุรกรรมโอนเงินผ่าน QR code ระหว่างไทยกับมาเลเซียได้แล้ว”

ลดพอร์ตเอสเอ็มอี-แก้หนี้เสีย

“อดิศร” กล่าวด้วยว่า สถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของแบงก์อยู่ที่ 5% ซึ่งปีนี้น่าจะทรงตัวอยู่ระดับนี้ โดยช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ แบงก์มีการกระจายพอร์ตมากขึ้น จากก่อนหน้านั้นต้องเผชิญภาวะหนี้เสียค่อนข้างมาก จากการมุ่งเน้นการเติบโตในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ และธุรกิจเอสเอ็มอีก็มีปัญหา ซึ่งแบงก์ได้ลดพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีลงจาก 5 หมื่นล้านบาท เป็น 2.6 หมื่นล้านบาท

“ปัจจุบันเราระจายพอร์ตธุรกิจในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยธุรกิจรายย่อยสร้างรายได้สูง 67% มีพอร์ตอยู่ 1.39 แสนล้านบาท ประมาณ 64% มาจากสินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล 8% สินเชื่อรถยนต์ 24% จักรยานยนต์ 4% ส่วนธุรกิจรายใหญ่สร้างรายได้ 14% ธุรกิจปริวรรตเงินตรา 12% เอสเอ็มอี 8% และธุรกิจไพรเวตแบงก์อยู่ที่ 1%”

จากภาพทั้งหมดนี้ ปี 2563 จะเป็นปีที่ แม่ทัพ “ซีไอเอ็มบี ไทย” คนใหม่จะได้แสดงฝีมือบริหารแบงก์อย่างเต็มตัว