ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยปรับตัวแข็งค่า หลังวิตกสถานการณ์สหรัฐ-อิหร่าน

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่าภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 6 มกราคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/1) ที่ระดับ 30.15/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (3/1) ที่ระดับ 30.15/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินสหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบแคบหลังจากคืนวันศุกร์ (3/1) ได้มีการเปิดเผยรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 10-11 เดือนธันวาคม โดยคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50-1.75 และจะดำเนินนโยบายต่อไปในลักษณะอ้างอิงกับตัวเลขเศรษฐกิจ (Data dependent) และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมายได้จากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจพิจารณาขยายประเภทสินทรัพย์ที่จะมีการเข้าซื้อนอกเหนือจากตั๋วเงินคลัง และอาจปรับลดการทำธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลข้ามคืน (Repo) อย่างค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับสถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ล่าสุดสหรัฐได้ใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศที่สนามบินนานาชาติกรุงแบกแดดในวันศุกร์ (3/1) ส่งผลให้นายพลกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลัง Quds Force ของอิหร่าน และนายอาบู มาร์ดี อัล-มูฮันดิส รองผู้นำกองกำลังรักษาการณ์ ฮาซด์ชาบี (Hashd Shaabi) ของอิรักเสียชีวิต การเสียชีวิตครั้งนี้ส่งผลให้ภูมิภาคและทั่วโลกเริ่มกังวลมากขึ้นเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและอิหร่านมีโอกาสมุ่งหน้าเข้าสู่ภาวะสงคราม ในเวลาถัดมานายอยาตอลเลาะห์ อาลี คาแมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ประกาศพร้อมตอบโต้สหรัฐ ขณะที่นายอาเดล อับดุล มาห์ตี รักษาการนายกรัฐมนตรีอิรัก กล่าวประณามการโจมตีดังกล่าว โดยมองว่าเป็นการแสดงความก้าวร้าวต่อรัฐบาลและชาวอิรัก เวลาถัดมาในวันเสาร์ (4/1) ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ระบุข้อความผ่านทางทวีตเตอร์ว่า ถ้าอิหร่านมีการตอบโต้กลับหลังจากเหตุการณ์โจมตีที่เกิดขึ้นในวันก่อนหน้า (3/1) ทางสหรัฐจะโจมตีเพิ่มเติมอีก 52 เป้าหมาย เพื่อแสดงถึงชาวอเมริกัน 52 คนที่ถูกจับไว้เป็นตัวประกันเมื่อหลายปีที่ผ่านมา บางสถานที่ที่เป็นเป้าหมายนั้นเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อวัฒนธรรมของอิหร่าน และเป้าหมายเหล่านี้จะถูกโจมตีอย่างรวดเร็วและรุนแรง อีกทั้งกล่าวว่าสหรัฐไม่ได้อยู่ภายใต้การข่มขู่อีกต่อไป

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่เปิดเผยในคืนวันศุกร์ (3/1) นี้ได้แก่ ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.2 ในเดือนธันวาคมซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 จากระดับ 48.1 ในเดือนพฤศจิกายนและต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 49.0 โดยดัชนียังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ ซึ่งเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันโดยได้รับผลกระทบจากการลดลงของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.13-30.17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.13/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (6/1) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1163/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/1) ที่ระดับ 1.1142/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นหลังมีการเปิดเผยการประมาณการดัชนีเงินเฟ้อครั้งที่ 1 ของเยอรมนีในวันศุกร์ (3/1) ขยายตัว 0.5% ในเดือนธันวาคมสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวที่ 0.4% ในระหว่างวันมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญคือยอดค้าปลีกของเยอรมนีขยายตัว 2.1% ในเดือนพฤศจิกายน สูงกว่าในเดือนตุลาคมที่หดตัว 1.3% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1153-1.1171 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1166/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (6/1) เปิดตลาดที่ระดับ 108.03/06 เยน/ดอลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/1) ที่ระดับ 108.00/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างวันค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมีความวิตกกังวลกับสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ และอิหร่านจึงเริ่มหันเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย โดยค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 10.75-108.17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.00/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคบริการของสหรัฐเดือนธันวาคม (6/1), ดัชนีภาคบริการของญี่ปุ่น เดือนธันวาคม (7/1), ดัชนีเงินเฟ้อของยูโรโซน เดือนธันวาคม (7/1), ยอดค้าปลีกของยูโรโซนเดือนพฤศจิกายน (7/1), ดุลการค้าของสหรัฐ เดือนพฤศจิกายน (7/1), ดัชนีการผลิตของสหรัฐ โดยผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนธันวาคม (7/1), คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐ (7/1), คำสั่งซื้อภาคโรงงานของเยอรมนีเดือนพฤศจิกายน (8/1), ตัวเลขการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมจากเอดีพีของสหรัฐ (8/1), ดัชนีเงินเฟ้อของจีนเดือนธันวาคม (9/1), รายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทย เดือนธันวาคม (9/1), ดุลการค้าของเยอรมนี เดือนพฤศจิกายน (9/1), อัตราการว่างงานของยูโรโซน เดือนพฤศจิกายน (9/1), จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (9/1), อัตราการว่างงานของสหรัฐ เดือนธันวาคม (10/1), สถิติการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ จากกรมสถิติแรงงาน (10/1)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.6/-2.4 สตางค์/ดอลลาร์สรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.25/-2.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ