ไขความลับ Gen Z เสริมแกร่งปั้นยอดขาย

คอลัมน์ Smart SMEs
โดย วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ธนาคารกสิกรไทย

ในปี 2020 นี้ Gen Z คือกลุ่มคนรุ่นใหม่กำลังถูกพูดถึงอย่างมาก ในฐานะคลื่นลูกใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดแรงงาน และเป็นลูกค้าหน้าใหม่ ๆ ของภาคธุรกิจ โดย Gen Z คือ ประชากรที่มีช่วงอายุต่ำกว่า 22 ปี มีจำนวนมากถึง 17.1 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.3 ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะยังอยู่ในช่วงวัยเรียน ไม่มีรายได้เป็นของตนเอง แต่ก็เป็นศูนย์กลางของครอบครัวซึ่งผู้ปกครองพร้อมจะใช้จ่ายให้กับบุตรหลาน แต่ก็มี Gen Z บางส่วนที่เริ่มเรียนจบเข้าสู่ภาคแรงงานแล้ว

นั่นก็หมายถึงรายได้และกำลังซื้อของกลุ่มนี้จะมีบทบาทสำคัญต่อจากกลุ่ม Gen X และ Gen Y ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้องทำความรู้จักพฤติกรรม แนวคิด รวมถึงทัศนคติ เพื่อนำไปวางแผนทั้งในแง่การบริหารทรัพยากรบุคคล และในแง่ของการนำเสนอสินค้าและบริการ โดยแคแร็กเตอร์ที่โดดเด่นของ Gen Z ได้แก่

1.การเชื่อมโยงกับโลกออนไลน์ตลอดเวลา และค่อนข้างถี่กว่ากลุ่มอื่น ๆ ทำให้คนกลุ่มนี้รู้ลึก รู้จริง และรู้เร็ว

2.ความอดทนน้อย ไม่ชินกับการรอคอย เปลี่ยนใจง่าย มีการหาข้อมูลเปรียบเทียบเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด ส่งผลให้ความภักดีต่อแบรนด์สินค้าหรือองค์กรธุรกิจมีค่อนข้างน้อย

3.รักอิสระ ชอบเป็นเจ้านายตนเอง จึงมีโอกาสสูงที่จะทำอาชีพอิสระเมื่อเรียนจบ หรือบางคนอาจเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่ยังเรียนอยู่ เช่น ทำงานฟรีแลนซ์ หรือพาร์ตไทม์ ขายของออนไลน์ เป็นยูทูบเบอร์

4.ต้องการมีตัวตน หรือความเป็นปัจเจกบุคคลสูง ต้องการสินค้าหรือบริการที่แตกต่าง มีความเฉพาะเจาะจง และชอบที่จะแชร์สินค้าหรือการใช้บริการของตนเอง เพื่อให้เกิดความยอมรับหรือสนใจในโลกออนไลน์

5.ต้องการสร้างสมดุลชีวิต มีเป้าหมายชีวิตที่นอกเหนือจากรายได้และความมั่นคง โดยให้ความสำคัญต่อการสร้างสมดุลในชีวิต ต้องการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ทั้งด้านบันเทิง เล่นกีฬา ท่องเที่ยวหาประสบการณ์ชีวิต

6.การใส่ใจต่อประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เต็มใจที่จะใช้จ่ายหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับที่สูงกว่ากลุ่มอื่น

สำหรับแนวทางการปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการ SMEs

ด้านกำลังซื้อ ผู้ประกอบการต้องมีความจริงใจ ตรงไปตรงมา เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีความเชี่ยวชาญในการหาข้อมูลเปรียบเทียบจากสื่อออนไลน์ หรือจากบุคคลที่ 3 เช่น การรีวิวจากบล็อกเกอร์ หรือยูทูบเบอร์ นอกจากนี้ การตอบสนองที่รวดเร็วทันใจทั้งการตอบคำถาม รวมถึงการจัดส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถทำได้ตามนี้ ก็น่าจะเป็นการสร้างฐานลูกค้าในระยะยาว รวมทั้งอาจดึงดูดให้ Gen อื่น ๆ มาเป็นลูกค้าได้ด้วย

ด้านแรงงาน ผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องทำงานร่วมกับ Gen Z ซึ่งกำลังทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงาน ควรเข้าใจวิธีการจัดการและบริหารคนกลุ่มนี้ เพราะมีลักษณะที่แตกต่างและท้าทายกว่า ดังนั้น การสร้างแรงจูงใจและการรักษาให้อยู่กับองค์กรจึงทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากหากคนกลุ่มนี้รู้สึกว่างานนั้นไม่สนุก ก็มีโอกาสที่จะลาออกไปเป็นฟรีแลนซ์ หรือทำธุรกิจเอง โดยเฉพาะ Gen Z ที่เพิ่งเริ่มทำงาน ในขณะที่กลุ่มที่ทำงานไปแล้วระยะหนึ่ง จะเริ่มเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการพัฒนาตนเอง องค์กรจึงควรส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ Gen Z มองว่าผลตอบแทนหรือรายได้เป็นส่วนที่แสดงถึงมุมมองขององค์กรที่มีต่อตนเอง ทั้งทางด้านความสำคัญ หรือการมีคุณค่าต่อองค์กร และยังใส่ใจการทำงานควบคู่กับการใช้ชีวิตให้สมดุล เช่น การเพิ่มความยืดหยุ่นทั้งทางด้านเวลาและสถานที่ทำงาน รวมถึงสวัสดิการอื่น ๆ

จะเห็นว่า Gen Z ที่กำลังทวีความสำคัญมากขึ้นทุกวันนั้นเป็นคนรุ่นใหม่ที่เอาใจค่อนข้างยาก แต่ก็ไม่ได้ยากเกินจะทำความเข้าใจ หากผู้ประกอบการ SMEs เปิดใจเรียนรู้และทำความรู้จักกับแคแร็กเตอร์ รวมถึงวิธีคิดของเด็ก Gen Z ก็จะสามารถครองใจได้ทั้งพนักงานหน้าใหม่ที่กำลังจะเข้ามา และที่กำลังจะเป็นลูกค้าในอนาคต นั่นเท่ากับคุณกำลังสร้างความแข็งแกร่งภายในองค์กร พร้อมกับการสร้างโอกาสในการขายกับคนกลุ่มนี้ที่กำลังจะกลายเป็นกำลังซื้อหลักในอนาคตได้ครับ