ธปท.ยันไทยไม่มีวิกฤต ไม่จำเป็นต้องทำ QE

ธปท.ยันไทยยังไม่เกิดวิกฤติไม่จำเป็นต้องใช้นโยบาย QE ชี้หากจะใช้ธนาคารกลางต้องมีเป้าหมายชัดเจน-อยู่ในภาวะวิกฤต เหตุสินเชื่อไม่ส่งถึงภาคเศรษฐกิจจริงจึงต้องอัดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ระบุไทยมีโครงการซอฟท์โลนปล่อยกู้เข้าระบบ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตอบคำถามนักวิเคราะห์ในงานสัมมนา “Analyst Meeting” ครั้งที่ 1/2563 ในประเด็นมุมมองของธปท.ต่อการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ว่า สำหรับการใช้นโยบาย QE ธนาคารกลางต้องมีเป้าหมายชัดเจนว่า จะเข้าไปซื้อตราสารอะไรโดยตรงจากตลาดการเงิน ในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2551-2554 ระบบธนาคารพาณิชย์ของประเทศใหญ่ๆ มีปัญหา undercapitalized ส่งผลให้กลไกการให้สินเชื่อไม่ไปถึงภาคเศรษฐกิจจริง ธนาคารกลางจึงต้องใช้นโยบาย QE เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินโดยตรง เช่น เข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ของภาคเอกชน การทำเช่นนี้คนได้ประโยชน์จะเป็นรัฐบาลและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ออกตราสารหนี้

สำหรับประเทศไทยนั้น บริษัทส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องในปัจจุบัน คือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ไม่สามารถออกตราสารหนี้ให้ธนาคารกลางเข้าซื้อโดยตรงเช่นนั้นได้ ซึ่งในปัจจุบันไทยจะมีกระบวนการที่คล้าย QE คือ ธนาคารออมสินทำโครงการ soft loan โดยปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำช่วยกลุ่มเป้าหมายที่เป็น SMEs อีกทีหนึ่ง

“หากเปรียบเทียบ ธปท. และธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ที่เคยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในอดีต ก่อนจะปรับลดดอกเบี้ยในเวลาต่อมาในระดับที่ต่างกัน โดย RBA ลดดอกเบี้ยลงไปถึง 0.75% นั้น มองว่า ธนาคารกลาง 3 แห่งที่ยกมาแม้จะเคยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% เท่ากัน แต่ก็มีความแตกต่างด้านบริบทอยู่มาก กรณีออสเตรเลียมีปัญหาเสถียรภาพระบบการเงิน เกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ (housing bubble) จึงต้องใช้มาตรการ macroprudential ที่ค่อนข้างแรงจนทำให้ฟองสบู่แตก ราคาบ้านลดลงเร็วมากประมาณ 20% จึงต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาเหลือ 0.75%”


ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.กล่าวเสริมว่า นโยบาย QE เริ่มนำมาใช้ในประเทศที่เกิดวิกฤต แต่สถานการณ์ของไทยปัจจุบันยังไม่เรียกว่าอยู่ในภาวะวิกฤตแบบนั้น สภาพคล่องในตลาดการเงินไทยยังมีมาก ในแต่ละวัน ธปท. ยังเป็นผู้ดูดซับสภาพคล่อง จึงมีความพร้อมในการปล่อยสภาพคล่องนี้ที่มีอยู่มาก เห็นว่าในขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้นโยบาย QE และมีข้อสังเกตว่าคนอาจพูดถึง QE เป็นเสียงที่ดังต่อเนื่อง (buzz word) โดยยังไม่รู้ว่าจริง ๆ ต้องการจะใช้ QE เพื่อเป้าหมายอะไร