ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่า หลังตัวเลขการจ้างงานต่ำกว่าคาด

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/1) ที่ระดับ 30.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (10/1) ที่ระดับ 30.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินสหรัฐเคลื่อนไหวอ่อนค่าหลังจากคืนวันศุกร์ (10/1) กระทรวงแรงงานสหรัฐได้มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 145,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 160,000 ตำแหน่ง ยิ่งไปกว่านั้นตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.1% เทียบเท่ากับเพิ่มขึ้น 3 เซนต์ในเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นน้อยกว่าช่วงเดือนพฤศจิกายน จาก 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึัน 2.9% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำกว่า 3.0% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.1%

ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่อัตราการว่างงานยังคงทรงตัวที่ระดับ 3.5% ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี เมื่อพิจารณาตลอดทั้งปี 2562 พบว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านตำแหน่ง ลดลงอย่างมากจากระดับ 2.7 ล้านตำแหน่งในปี 2561 นอกจากนี้ การจ้างงานนอกภาคเกษตรในปี 2562 คิดเป็นตัวเลขเฉลี่ย 176,000 ตำแหน่งตัวเดือน ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผยสต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งลดลง 0.1% ในเดือนพฤศจิกายน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนตุลาคม ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่า สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งอาจทรงตัวในเดือนพฤศจิกายน

สำหรับสถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ล่าสุดนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ กล่าวว่า พวกเขาไม่มีความสงสัยเลยที่อิหร่านมีความตั้งใจที่จะโจมตีฐานทัพทหารของสหรัฐ และกองกำลังพันธมิตรในอิรักเมื่อวันพุธ (8/1) เพื่อตอบโต้กลับที่ผู้บัญชาการกองกำลังระดับสูงเสียชีวิต นอกจากนี้ยังได้แถลงการณ์ว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐได้ลงนามเห็นชอบมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศอิหร่านฉบับใหม่ ซึ่งสหรัฐจะขยายขอบเขตการคว่ำบาตรทางการค้า ครอบคลุมภาคการก่อสร้าง, สิ่งทอ, เครื่องนุ่งห่ม และเหมืองแร่ เพื่อตอบโต้การถอนตัวออกจากข้อตกลงปลดอาวุธนิวเคลียร์

นอกจากนี้ สหรัฐได้ขยายขอบเขตการห้ามบริษัทสัญชาติอเมริกันทำธุรกิจกับบริษัทอิหร่านทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อตอบโต้การที่อิหร่านโจมตีฐานทัพสหรัฐ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7/1) อย่างไรก็ดีสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางเริ่มบานปลายเป็นประเด็นทางการเมืองในสหรัฐ โดยล่าสุดวันศุกร์ (11/1) นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐกล่าวว่าจะดำเนินการยื่นญัตติการถอดถอนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ต่อให้วุฒิสภาภายในสัปดาห์หน้า โดยจะหารือกับพรรคเดโมแครตในวันอังคาร (14/1) โดยเมื่อเรียบร้อยแล้วจะส่งเรื่องต่อให้วุฒิสภาพร้อมเอกสารสำคัญซึ่งจะถือเป็นการเริ่มการไต่สวนของวุฒิสภาได้ทันที ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.15-30.23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ  30.20/22 บาท/ดอลลาร์

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (13/1) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1119/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/1) ที่ระดับ 1.1093/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งตามการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดีนักลงทุนยังคงติดตามการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ โดยล่าสุด นายเกิร์ท ฮัน วิลเกอ ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษกล่าวกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส ว่า เขาจะลงมติสนับสนุนการลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในเดือนนี้โดยจะอ้างอิงจากข้อมูลเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.111-1.1135 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1132/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.11132/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (13/1) เปิดตลาดที่ระดับ 109.60/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/1) ที่ระดับ 109.61/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างวันค่าเงินเยน
เคลื่อนไหวทรงตัว เนื่องจากเป็นวันหยุด (วันบรรลุนิติภาวะ) จึงทำให้ปริมาณซื้อขายค่อนข้างน้อย โดยค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.45-109.79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.71/73
เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของอังกฤษ เดือนพฤศจิกายน (13/1), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของสหรัฐ เดือนธันวาคม (14/1), ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ เดือนธันวาคม (14/1), ดุลการค้าของจีนเดือนธันาคม (14/1), ดัชนีราคาผู้บริโภคของอังกฤษ เดือนธันวาคม (15/1), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน เดือนพฤศจิกายน (15/1), ดุลการค้าของยูโรโซน เดือนพฤศจิกายน (15/1), ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ เดือนธันวาคม (15/1), รายงานดัชนีการผลิตรัฐนิวยอร์กเดือนมกราคม (15/1), ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี เดือนธันวาคม (16/1), ยอดค้าปลีกพื้นฐานของสหรัฐ เดือนธันวาคม (16/1), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ (16/1), รายงานดัชนีการผลิตรัฐฟิลาเดลเฟีย เดือนมกราคม (16/1), ใบอนุญาตก่อสร้างของสหรัฐเดือนธันวาคม (17/1), ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของจีน ไตรมาส 4 (1/1), ดัชนีราคาผู้บริโภคของูโรโซนเดือนธันวาคม (17/1), ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ของสหรัฐ จาก JOLTs เดือนพฤศจิกายน (17/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.1/-1.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.00/-0.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ