แบงก์รับสภาพรื้อ “ค่าฟี-ดอกเบี้ย” จับมือรัฐอุ้ม SMEs ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ

สัมภาษณ์

เปิดศักราชใหม่ปี 2563 มาไม่กี่วัน ภาครัฐมีการออกมาตรการด้านการเงินหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการ “ปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม” หรือการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวมาตรการ “ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย” ซึ่งเป็นแพ็กเกจช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ทำร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธปท. และสถาบันการเงินต่าง ๆ ส่วนการดำเนินการหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร หรือแบงก์จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

“ปรีดี ดาวฉาย” กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

เพิ่มค้ำ 40%-SMEs ได้เงินเร็ว

“ปรีดี” กล่าวว่า กรณีการปรับสัดส่วนให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มจาก 30% เป็น 40% นั้น ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจมากกว่าแบงก์ เพราะเงินจะออกไปสู่เอสเอ็มอีได้มากขึ้นและเร็วขึ้น โดยสาขาแบงก์รวมกว่า 6-7 พันสาขาจะเร่งปล่อยสินเชื่อ คาดจะมีเม็ดเงินปล่อยกู้เข้าระบบราว 1 แสนล้านบาท

“เมื่อวงเงินออกเร็วขึ้น ความต้องการสภาพคล่องในระบบก็มีมากขึ้น ซึ่งเอสเอ็มอีคิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของ GDP มีการจ้างงานถึง 85% จะช่วยให้ประเทศไทยขยายตัวได้ดีขึ้น ส่วนถามว่าการเพิ่มสัดส่วนค้ำประกันเป็น 40% ธนาคารถึงทำมากขึ้น ก็เพราะมีการแชร์ความเสียหายที่มากขึ้น”

นอกจากนี้ การปรับเกณฑ์เพื่อเอื้อการปรับโครงสร้างหนี้ของเอสเอ็มอีที่ทำได้ง่ายขึ้น ก็ทำให้ต่อไปนี้ไม่ต้องไปฟ้องร้อง ลูกค้าก็สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้

สาขาแบงก์เร่งปรับสัญญาเงินกู้

เขาบอกว่า หลัง ธปท.ออกมาตรการ “ปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม” 3 ส่วน ได้แก่ 1.ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อส่วนบุคคล 2.ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อส่วนบุคคล และ 3.ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต หลังจากนี้ ทุกธนาคารต้องปรับระบบให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติ อย่างกรณีธนาคารกสิกรไทยก็ได้สั่งให้สาขาและพนักงานภายในธนาคารปรับเปลี่ยนสัญญาเงินกู้ให้เป็นไปตามแนวทางของ ธปท.”

“ลูกค้าที่กู้ใหม่ แบงก์จะต้องทำสัญญาตามหลักการของ ธปท.ไปเลย ส่วนลูกค้าเก่าที่สัญญาไม่ตรงแนวปฏิบัติก็ต้องปรับให้สอดคล้อง หรือลูกค้าเก่าบางรายแบงก์อาจจะมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แล้วแต่กรณีไป”

รื้อ “ดอกเบี้ยผิดนัด” ฉุดรายได้

ขณะที่ในแง่ผลกระทบต่อการทำธุรกิจแบงก์นั้น “ปรีดี” กล่าวว่า เรื่องที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด จะเป็นเรื่อง “ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้” เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้มากที่สุด แต่แบงก์ก็ไม่ได้มองว่าค่าธรรมเนียมส่วนดังกล่าวเป็นรายได้หลัก และเมื่อเป็นแนวทางที่ ธปท.ให้ปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติตาม

“เกณฑ์ที่เกี่ยวกับบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต อันนี้ที่ผ่านมาแบงก์ทำตามแนวที่ ธปท.บอกอยู่แล้ว ไม่ได้มีรายได้เกิน ขณะที่เรื่อง prepayment fee ปกติแล้วถ้ามีการคิดค่าธรรมเนียมลูกค้าก็ไม่ค่อยมีใครยอมเสียอยู่แล้ว หรือถ้าเป็นลูกค้ารายใหญ่ ๆ ก็จะต่อรอง แบงก์ก็ไม่ค่อยได้รายได้ธรรมเนียมตรงนี้ และอีกอย่างบางโปรดักต์แบงก์ก็เสนอดอกเบี้ยต่ำในช่วง 3 ปีแรกเพื่อช่วยลูกค้าให้สามารถกู้และสามารถผ่อนคืนได้ จึงจำเป็นต้องมีเงื่อนไขเรื่อง prepayment อยู่ ส่วนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ดูเหมือนว่าน่าจะกระทบมากกว่าตัวอื่น แต่ก็ไม่ได้เป็นรายได้หลัก แม้จะหายไปก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นส่วนสำคัญ”

ส่วนกรณีลูกค้าใช้วงเงินบัตรเครดิตในการทำธุรกิจและเสียอัตราดอกเบี้ยสูง 18% ซึ่ง ธปท.ให้เปลี่ยนวงเงินมาอยู่ในสินเชื่อแบบมีระยะเวลา (เทอมโลน) นั้น “ปรีดี” กล่าวว่า กรณีดังกล่าวอาจจะควบคุมลำบาก เพราะหากลูกค้ามากู้เพื่อทำการค้า การพิจารณาปล่อยสินเชื่อและการชำระคืนจะชัดเจน แต่หากลูกค้ามาขอวงเงินบัตรเครดิตก็ต้องพิจารณาอีกแบบหนึ่ง เนื่องจากเป็นคนละผลิตภัณฑ์ ซึ่งธนาคารก็ต้องคิดคำนวณดู

ค่าฟี “กสิกรไทย” ส่อหด 17%

ทั้งนี้ ในมุมของธนาคารกสิกรไทยเอง เมื่อ ธปท.มีแนวทางมา ธนาคารก็ต้องปฏิบัติตาม ส่วนในแง่ผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยจากกรณีปรับวงเงินกู้เอสเอ็มอีจากวงเงินบัตรเครดิตไปเป็นเทอมโลนนั้น ตอนนี้ไม่ได้กังวลว่าจะมีผลกระทบทำให้รายได้ดอกเบี้ยลดลงแต่อย่างใด

โดยปี 2563 นี้ ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์รายได้ค่าธรรมเนียมโดยรวมว่าน่าจะหดตัว -5% ถึง -17% ซึ่งแม้ว่าจะมีหลักเกณฑ์นี้จะเพิ่งออกมา แต่ก็คงไม่ได้มีผลกระทบมากขึ้นไปกว่ากรอบที่คาดการณ์ไว้นี้ เนื่องจากธนาคารได้คาดการณ์โดยรวมปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ไว้หมดแล้ว

“เชื่อว่ารายได้ค่าฟีของเรายังไงก็อยู่ในกรอบนี้ ไม่ติดลบไปมากกว่านี้ ส่วนในอนาคต ธปท.จะมีอะไรออกมาอีกหรือไม่ก็ยังตอบไม่ได้ แต่หลักการต้องการให้แบงก์สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งไม่แน่ในอนาคตอะไรที่มีการเรียกเก็บสูงกว่าต้นทุนก็อาจจะโดน ซึ่งธนาคารพยายามจัดการให้เป็นไปแนวทางที่ ธปท.กำหนด อะไรที่ไม่ถูกต้องเราก็ปรับ ส่วนตัวที่ต่ำกว่าต้นทุนก็เป็นอะไรที่จัดการยาก ก็ต้องใช้เวลา” นายปรีดีกล่าว

แม้ว่าปีนี้แบงก์จะต้องทำธุรกิจยากลำบากมากขึ้น ทว่า ในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สดใสเช่นนี้ ภาครัฐก็คงต้องการให้แบงก์พาณิชย์มีบทบาทในการช่วยเหลือธุรกิจและประชาชนมากขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถฝ่ามรสุมเศรษฐกิจไปได้ด้วยกันนั่นเอง