บาทอ่อนค่า หลัง ธปท.กังวลสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า

ฝ่ายค้าเงินตราระหว่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 14 มกราคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/1) ที่ระดับ 30.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (13/1) ที่ระดับ 30.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อคืนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสหรัฐออกแถลงการณ์ยืนยันว่า รัฐบาลสหรัฐได้ถอดจีนออกจากรายชื่อประเทศที่บิดเบือนค่าเงินแล้ว โดยการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่สหรัฐและจีนจะลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกในวันพุธที่ 15 ม.ค.นี้ โดยรายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศรอบครึ่งปีซึ่งกระทรวงการคลังได้ยื่นต่อสภาคองเกรสสหรัฐระบุว่า จีนยังคงเป็นหนึ่งในบรรดา 10 ประเทศคู่ค้า ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่น ที่ถูกสหรัฐจับตาเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายค่าเงิน แต่กระทรวงการคลังสหรัฐได้ถอดชื่อจีนออกจากรายชื่อประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน นอกจากนี้ จีนยัได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะหลีกเลี่ยงการลดค่าเงินเพื่อหวังผลด้านการแข่งขัน โดยเจตนารมณ์ดังกล่าวของจีนปรากฏให้เห็นในข้อตกลงการค้าเฟสแรก ซึ่งสหรัฐและจีนมีแผนจะลงนามร่วมกันในวันพุธนี้ (15/1)

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เงินบาทที่แข็งในปี 2562 ที่ผ่านมาเกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นหลัก ไม่ใช่แรงเก็งกำไรต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ธปท.ยอมรับว่ามีความกังวลและติดตามสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น อย่างไรก็ตาม มองว่าทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกับ ธปท.ในการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งการออกมาแถลงของธนาคารแห่งประเทศไทยทำให้ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.25-30.31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.29/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (14/1) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1136/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/1) ที่ระดับ 1.1114/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าภายหลังนาย Yves Mersch หนึ่งในคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ออกมาแสดงความเห็นว่า สภาวะเงินเฟ้อของกลุ่มยูโรโซนในขณะนี้ เริ่มมีสัญญาณในการฟื้นตัวที่ดี หลังจากอีซีบีได้ดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่องในปี 2562 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1135-1.1145 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1135/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (14/1) เปิดตลาดที่ระดับ 110.02/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/1) ที่ระดับ 109.85/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทิศทางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐที่ดูคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ภายหลังสหรัฐตัดสินใจถอดจีนออกจากรายชื่อประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน รวมถึงทิศทางความรุนแรงในตะวันออกกลางที่ดู้เบาบางลงไป ส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง และลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างสกุลเงินเยนลง โดยค่าเงินเยน
เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.01-110.21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.01/02 เยน/
ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของสหรัฐ เดือนธันวาคม (14/1), ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ เดือนธันวาคม (14/1), ดุลการค้าของจีนเดือนธันวาคม (14/1), ดัชนีราคาผู้บริโภคของอังกฤษ เดือนธันวาคม (15/1), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน เดือนพฤศจิกายน (15/1), ดุลการค้าของยูโรโซน เดือนพฤศจิกายน (15/1), ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ เดือนธันวาคม (15/1), รายงานดัชนี รัฐนิวยอร์กเดือนมกราคม (15/1), ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี เดือนธันวาคม (16/1), ยอดค้าปลีกพื้นฐานของสหรัฐ เดือนธันวาคม (16/1), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ (16/1), รายงานดัชนีการผลิตรัฐฟิลาเดเฟีย เดือนมกราคม (16/1), ใบอนุญาตก่อสร้างของสหรัฐ เดือนธันวาคม (17/1), ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของจีน ไตรมาส 4 (17/1), ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซนเดือนธันวาคม (17/1), ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ของสหรัฐ จาก JOLTS เดือนพฤศจิกายน (17/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.2/-2.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.6/-0.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ