ธปท.หลังพิงฝาสู้บาทแข็ง แท็กทีมรัฐ-เอกชนแก้ “วิกฤตค่าเงิน”

แบงก์ชาติหลังพิงฝาเดินเกมสู้ “บาทแข็ง” เผย 5 ปีใช้เงินกว่า 2.4 ล้านล้าน แทรกแซงค่าเงินบาท ยอมรับ ธปท.รบคนเดียวไม่ไหว วอนภาครัฐ-เอกชนแท็กทีมแก้ปัญหาโครงสร้างต้นเหตุค่าเงินบาทแข็ง “เกินดุลการค้า-ลงทุนต่างประเทศต่ำ”ผนึกคลังอัดมาตรการลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร-ขยายเพดานผู้ส่งออกพักเงิน ตปท.เพิ่ม 5 เท่า เดินสายหารือกองทุนยักษ์ลงทุนต่างประเทศ “ประยุทธ์” นัด ครม.เศรษฐกิจถกค่าบาท 31 ม.ค.นี้

ชู 3 แนวทาง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องส่งผลให้ปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่ามากถึง 7.6% และช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 20% แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะพยายามเข้ามาดูแลด้วยการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเมื่อ 8 พ.ย. 2562 ก็ได้ปรับเกณฑ์ผ่อนคลายการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ขณะที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยอย่างมาก

ทำให้แรงกดดันปัญหาเศรษฐกิจมาอยู่ที่แบงก์ชาติในฐานะผู้ดูแลค่าเงินบาท กระทั่งเมื่อ 24 ธ.ค. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง สศช. และ ธปท. จัดตั้งคณะทำงานร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายการเงินและการคลังให้เป็นไปในทิศทางที่สนับสนุนร่วมกันและกัน

“บาทแข็ง” อักเสบจากข้างใน

ทั้งนี้ เมื่อ 7 ม.ค. 2563 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวในงาน “Analyst Meeting” ว่า “เวลาพูดถึงค่าเงินบาทเหมือนอาการไข้ อาจเป็นผลมาจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ก็แก้ด้วยนโยบายการเงิน เหมือนให้ยาพาราลดไข้ แต่อีกด้านอาจเป็นการอักเสบจากข้างใน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งต้องให้มากกว่ายาแก้ไข้ คือจำเป็นต้องมีนโยบายด้านอื่น ๆ มาร่วมกันแก้ปัญหา ต้องคิดในภาพใหญ่เป็นองค์รวม”

ปัญหาเงินบาทแข็งเป็นเพียงอาการที่มีสาเหตุมาจากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเป็นหลัก แต่หากมองลึกลงไป ปัญหาบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเป็นผลจากปัญหา “ช่องว่างการออมและการลงทุน” ซึ่งมาจากภาคธุรกิจที่ไม่ได้ลงทุนมากเท่าที่ควร และเมื่อมองลึกลงไปอีก จะพบว่าเกิดจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอำนาจผูกขาดตลาดไม่มีแรงจูงใจที่จะลงทุน ขณะที่เอสเอ็มอีก็ไม่ลงทุนเพราะขาดความสามารถในการแข่งขัน ธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งถือเป็นแหล่งจ้างงานหลัก เมื่อไม่ลงทุนก็จะกระทบการจ้างงานของประเทศ และปัญหาหนี้ครัวเรือนก็จะเพิ่มขึ้นตามมา

“เงินบาทที่แข็งค่าไม่ได้มาจากมิติการเงินเพียงด้านเดียว ดังนั้น นโยบายจะต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีและกำกับดูแลธุรกิจขนาดใหญ่ด้วย ซึ่งในภาวะปัจจุบันเป็นโอกาสที่จะสามารถคิดแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะประเทศมีฐานะทางต่างประเทศที่ค่อนข้างดี และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ช่วยให้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทำได้ง่ายกว่าในภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง”

ใช้เงิน 2.4 ล้านล้านดูแลค่าบาท

และล่าสุด 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ธปท.ได้แถลงถึงสถานการณ์และการบริหารจัดการค่าเงินบาทอีกครั้ง โดยนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ระบุว่า ธปท.มีการดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดผ่านการซื้อเงินดอลลาร์ต่อเนื่อง ส่งผลให้ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2558-2562) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.4 ล้านล้านบาท) หรือเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากการค้าขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศ หาก ธปท.ไม่ได้มีการเข้ามาดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา เงินทุนสำรองก็จะไม่เพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทอาจจะแข็งกว่าระดับปัจจุบัน

ส่วนแนวโน้มการซื้อเงินดอลลาร์ในปี 2563 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขณะที่การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (1 ม.ค.-14 ม.ค. 63) พบว่าอ่อนค่าลงเล็กน้อยประมาณ 1%

“ถ้าเราเข้าแทรกแซงจนบาทอ่อนกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจ ก็เท่ากับใช้ค่าเงินเพื่อให้สินค้าของไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่งชั่วคราว ซึ่งไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง และหากเป็นที่สังเกตของประเทศอื่น ๆ ก็อาจจะก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้า หรือการใช้มาตรการทางภาษี ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อภาคส่งออกไทยในระยะยาว” นายเมธีกล่าว

เมื่อสอบถามถึงข่าวล่าสุดที่ประเทศไทยพ้นจากการถูกขึ้นบัญชีดำในการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างความได้เปรียบในการส่งสินค้าไปสหรัฐ นายเมธีชี้ว่า แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เข้าข่ายประเทศที่ถูกตรวจสอบ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ส่งออกหลักไปยังสหรัฐ รวมถึงมีการเกินดุลไม่ถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์/ปี แต่ ธปท.ก็มีการดูแลใกล้ชิดและหารือร่วมกับภาครัฐตลอดมา

ผู้ส่งออกเมินพักเงินต่างประเทศ

นายเมธีกล่าวถึงผลจากการปรับเกณฑ์ผ่อนคลายเงินทุนไหลออก เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2562 ว่า หลังยกเว้นการนำรายได้จากการส่งออกกลับเข้าประเทศพบว่า ผู้ส่งออกยังพักเงินไว้ต่างประเทศไม่มาก อาจเป็นความกังวลว่าเงินบาทจะแข็งค่า แต่ปัจจุบันไม่มีเหตุผลอะไรที่ค่าเงินบาทจะแข็ง หากผู้ส่งออกไม่นำเงินเข้าประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดไม่เพิ่ม ค่าเงินบาทก็ไม่แข็งค่า

อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังดำเนินการตามแผนเดิม โดยเสนอกระทรวงการคลังในการขยายวงเงินรายได้ ที่ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศ จากปัจจุบันอยู่ที่ 2 แสนดอลลาร์ เพิ่มเป็น 1 ล้านดอลลาร์ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อเอื้อให้ผู้ส่งออกพักเงินในต่างประเทศตามแนวทางที่ดำเนินมา

แบงก์ชาติรบคนเดียวไม่ไหว

นายเมธีกล่าวว่า ปัญหาเงินบาทแข็งค่าเป็นอาการที่สะท้อนมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้การแทรกแซงค่าเงิน รวมถึงนโยบายการคลังอื่น ๆ ที่หวังผลระยะสั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ขณะที่ต้นเหตุของปัญหามาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ได้แก่ การเกินดุลการค้าต่อเนื่อง และการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่ยังมีน้อย

ทิศทางนโยบายต่อจากนี้มองว่า การดูแลอัตราแลกเปลี่ยน หากประสานความร่วมมือระหว่าง ธปท. ภาคเอกชน และภาครัฐ จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ดีกว่านี้ ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.มีข้อเสนอไปยังภาครัฐ และหารือกันอย่างใกล้ชิด ขณะที่ภาคเอกชนนอกจากจะสามารถพักเงินไว้ในต่างประเทศ ในส่วนนำเข้าอาจทำมาตรการเร่งการนำเข้าในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า เพื่อเป็นโอกาสในการซื้อสินค้าทุนได้ถูกลง เป็นต้น

“ถ้าแบงก์ชาติทำคนเดียวก็จำเป็นต้องทำมาตรการที่รุนแรง แต่หากร่วมมือกันก็จะออกมาเป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์กับทุก ๆ ฝ่าย เพราะหากแบงก์ชาติแก้ไขอยู่คนเดียวก็ต้องใช้ยาแรงถึงจะเอาอยู่ ยกตัวอย่าง คนเป็นโรคมะเร็ง หากใช้วิธีรุนแรงอย่างการทำคีโม ร่างกายก็อาจจะรับไม่ได้ แต่ถ้าใช้ธรรมชาติบำบัดค่อย ๆ รักษาไป แม้จะหายช้า แต่อาการจะดีขึ้นและร่างกายก็รับได้ด้วย” นายเมธีกล่าว

ชง 3 แนวทางช่วยแก้ปัญหา

นายเมธีกล่าวว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไขทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ 1.เพิ่มการนำเข้า อาจจะผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือลงทุนเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงการผลิต ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดีในช่วงที่ต้นทุนการนำเข้าจะถูกลงเพราะเงินบาทแข็ง 2.ลดแรงซื้อบาทจากภาคส่งออก โดยให้เก็บเงินไว้ในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) หรือการหักชำระรายจ่ายและแลกเงินบาทเฉพาะส่วนที่เหลือ

“ที่ผ่านมา ธปท.มีการหารือกับภาคเอกชนและภาครัฐมาโดยตลอด แต่การดำเนินการบางส่วนอาจต้องใช้เวลา เช่น กรณีเร่งการนำเข้า เร่งการชำระหนี้ หรือเร่งการลงทุนโดยเฉพาะของภาครัฐเหล่านี้ในส่วนของรัฐบาลจะต้องรอ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ซึ่งยังมีกระบวนการที่ต้องผ่านวุฒิสภาจึงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้” นายเมธีกล่าว

และ 3.สนับสนุนการออกไปลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน จะมีส่วนช่วยให้เกิดแรงผลักดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ โดยประเทศอื่น ๆ เช่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงใกล้เคียงกับไทย แต่สกุลเงินของประเทศเหล่านั้นไม่แข็งค่าเท่าไร เนื่องจากมีเงินไหลออกไปลงทุนต่างประเทศค่อนข้างมาก ซึ่งช่วยลดแรงกดดันจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

โดยส่วนใหญ่เป็นการออกไปลงทุนของนักลงทุนสถาบัน เช่น ประกันชีวิต กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขณะที่ไทยยังไม่มีการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศมากนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องและผลักดันให้มีเงินไหลออกมากขึ้นในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการเดินสายหารือกับกองทุนขนาดใหญ่ รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลของกองทุนนั้น ๆ ซึ่งยังต้องใช้เวลาในการปรับเกณฑ์การลงทุนของกองทุนบางประเภท

กองทุนมั่งคั่งไม่ช่วยบาทอ่อน

ต่อกรณีข้อเสนอของรัฐบาลเรื่องจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่ง (Sovereign Wealth Fund-SWF) นายเมธีกล่าวว่า ปัจจุบันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีการลงทุนในต่างประเทศอยู่แล้ว การตั้ง SWF เป็นเพียงการเปลี่ยนประเภทการลงทุนที่อยู่ในต่างประเทศเท่านั้น ไม่ช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนลง หากต้องการให้ค่าเงินบาทอ่อนลง ภาครัฐและเอกชนควรเข้าซื้อดอลลาร์ในตลาดเพื่อไปลงทุนต่างประเทศ

“ถ้าซื้อจากแบงก์ชาติไป ค่าเงินบาทก็ไม่อ่อน เป็นการสลับของเฉย ๆ เช่น จากที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ก็แค่ย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นอย่างบ่อน้ำมัน ไม่มีเงินเข้าออก SWF จึงไม่ช่วยให้ค่าเงินอ่อน นอกจากนี้ การลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูง ส่วนใหญ่มักจะมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นจะต้องพิจารณาให้ดีก่อนออกไปลงทุน รวมถึงปัจจุบันมูลค่าของสินทรัพย์ในต่างประเทศเริ่มสูงเกินจริง หากออกไปลงทุนในช่วงนี้อาจเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่แพงเกินไป”

บิ๊กตู่นัด ครม.เศรษฐกิจถกค่าบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ ธปท.ได้แถลงถึงแนวทางในการแก้ปัญหาค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงพาณิชย์ สภาพัฒน์ และ ธปท. จัดเตรียมวาระเพื่อพิจารณาปัญหาค่าเงินบาท และแนวทางแก้ไข ในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจ ในวันที่ 31 ม.ค. 63

ขณะที่แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ถ้อยแถลงของแบงก์ชาตินั้นเป็นไปตามทฤษฎีเดิม ๆ ขณะที่แรงกดดันการบริหารเศรษฐกิจขณะนี้ไปตกอยู่ที่แบงก์ชาติสูงมาก เพราะประเมินว่าระยะสั้นธุรกิจจะมีปัญหาและไปไม่รอด

“ที่ผ่านมาได้สั่งการและหารือทั้งในกรอบและนอกรอบ ให้แบงก์ชาติชะลอการออกพันธบัตรดูดซับสภาพคล่อง ให้หาแนวทางนำเงินทุนสำรองออกมาปล่อยให้รัฐบาลกู้ เพื่อลงทุนในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ หรือปล่อยกู้ในโครงการลงทุนตามนโยบายรัฐบาล แม้กระทั่งจะจัดตั้งกองทุนมั่งคั่ง หรือกองทุนอะไรก็ได้ขึ้นมาก็สามารถทำได้ แต่แบงก์ชาติยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ”

หนุนลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การดูแลแก้ไขปัญหาบาทแข็งค่าลงลึกไปถึงโครงสร้างปัญหาถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาภาคเอกชนเสนอให้รัฐกำหนดมาตรการดูแลเพิ่มขึ้น อย่างล่าสุดทางคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ขอให้เร่งออกมาตรการให้เอกชนสามารถนำเข้าเครื่องจักรมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยปลอดภาษีนำเข้า ซึ่งกำหนดเงื่อนไขให้เฉพาะเครื่องจักรที่ไทยผลิตไม่ได้เท่านั้น พร้อมมาตรการเสริมเพื่อให้เอกชนมีศักยภาพในการลงทุนมากขึ้น ทั้งการเข้าไปช่วยเหลือเรื่องการลดการส่งประกันสังคม การลดค่าไฟฟ้าให้เอสเอ็มอี

“เอกชนอยากเห็นมาตรการดูแลค่าบาทมากกว่าที่ผ่านมา หากกระทรวงการคลัง และ ธปท.จะมีการออกมาตรการอื่นเพิ่ม ควรมีการคุยกับภาคเอกชนเพิ่ม ซึ่งอาจจะผ่านทางคณะทำงานที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นก็ได้ เพราะคณะทำงานชุดนี้มีองค์ประกอบทั้ง ธปท. สมาคมธนาคารไทย ส.อ.ท. สภาหอฯ ก.ล.ต. และบีโอไอ”

แก้เกณฑ์ “ประกัน” ลงทุน ตปท.

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ.กำลังแก้ไขประกาศลงทุนใหม่เพื่อให้ธุรกิจประกันสามารถมีการลงทุนที่หลากหลายขึ้น และตอบสนองภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นมี 4 รูปแบบ คือ 1.เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศจากเดิมไม่เกิน 15% ของสินทรัพย์รวม เป็นไม่เกิน 25% 2.เพิ่มสัดส่วนและประเภทการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกันไม่เกิน 25% ของสินทรัพย์รวม จากเดิมแยกลงทุนในประเทศไม่เกิน 20% และต่างประเทศไม่เกิน 5% 3.เพิ่มประเภทการลงทุนในหุ้นของบริษัทประกอบกิจการสถานพยาบาล กิจการดูแลผู้สูงอายุไม่เกิน 4% 4.เพิ่มประเภทการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีเกี่ยวกับการประกันภัย เช่น อินชัวร์เทค ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำเข้าบอร์ด คปภ.ได้ราวปลายเดือน ม.ค. 63 (หน้า 1, 9)