จับทิศตลาดหุ้นไทยปี 63 “หืดจับ” ไร้เสน่ห์…ต่างชาติขายสุทธิ 7 ปี

แม้ต้นปี 2563 ตลาดหุ้นไทยจะได้รับปัจจัยหนุนจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีท่าทีผ่อนคลายลง อย่างไรก็ตาม กลับมีปัจจัยลบใหม่เรื่องของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่านเข้ามากระทบ ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวขึ้นลงผันผวนรุนแรง อีกทั้งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้มีการย้ายเงินออกไปลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ และพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเองยิ่งหืดจับ เพราะนอกจากต้องเผชิญปัจจัยลบภายนอกที่เข้ามากดดันตั้งแต่ต้นปี ก็ยังมีปัจจัยภายในที่เป็นเรื่องความน่าสนใจของตัวตลาดหุ้นไทยเองด้วย

ต่างชาติถือต่ำสุดรอบ 18 ปี

โดย “สรพล วีระเมธีกุล” ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติมีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นไทยมากที่สุด 40% ขณะที่นักลงทุนในประเทศอยู่ที่ 30% สถาบัน 15% และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ 15% อย่างไรก็ดี พบว่า การถือครองหุ้นไทยของต่างชาติลดลงต่อเนื่องมาแล้ว 7 ปี โดยตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยรวมประมาณ 7 แสนล้านบาทแล้ว ส่งผลให้สัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติลดลงเหลือ 29% ในปัจจุบัน “ต่ำสุดในรอบ 18 ปี” เลยทีเดียว

“การถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติลดลงเหลือ 29% จากปี 2556 มีสัดส่วนอยู่ที่ 37% หมายความว่าทุก ๆ การถือครองที่ลดลง 1% จะส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลออกราว 1 แสนล้านบาท โดยแนวโน้มฟันด์โฟลว์ในปี 2563 นี้ จากเดิมคาดว่าปีนี้มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาซื้อในตลาดหุ้นไทย แต่จากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่านก็มีโอกาสลดลง” นายสรพลกล่าว

ทั้งนี้ “สรพล” มองว่า สาเหตุที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง มาจากอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS growth) ที่ต่ำ โดยตลาดหุ้นไทยมี EPS growth 10 ปี ย้อนหลังอยู่ที่ 7% ที่สำคัญ ประเทศไทยยังพึ่งพาอุตสาหกรรมที่นำเข้าเพื่อการผลิตและส่งออก (OEM) เป็นหลัก ซึ่งไม่มีมูลค่าและกำไรต่ำ

“ช่วง 5 ปีที่ผ่าน ตลาดหุ้นที่บวกนำในตลาดหุ้นอื่น ๆ ทั่วโลกจะเป็นตลาดหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับขึ้นโดดเด่น ขณะที่ตลาดหุ้นประเทศไทยยังไม่มีหุ้นเทคโนโลยีจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ” นายสรพลกล่าว

หุ้นไทยเสี่ยงทำนิวโลว์ต่อเนื่อง

ขณะที่ “เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2562 เป็นต้นมา SET index ปรับขึ้นได้จำกัด หรือไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ (new high) ขณะที่เวลาดัชนีปรับลงจะไปทำจุดต่ำสุดใหม่ (new low) เสมอ ดังนั้น ปีนี้ดัชนีหุ้นไทยจึงไม่ได้อยู่ในขาขึ้นอย่างแน่นอน โดยให้กรอบแนวรับและแนวต้านสำคัญปีนี้ไว้ที่ 1,530 จุด และ 1,645 จุด หากดัชนีหลุดแนวรับที่ 1,530 จุด อาจมีความเสี่ยงที่จะปรับลดลงต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงในระยะถัดไป มาจาก EPS ตลาดหุ้นที่ต่ำ ซึ่งฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ให้ EPS ปี 2563 ไว้ที่ 95.71 บาท/หุ้น นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์ยังมีแนวโน้มชะลอเข้ามาลงทุน เนื่องจากเงินบาทมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าลงในอนาคตจากปัจจุบันอยู่ในโซนแข็งค่า ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และปัจจัยเสี่ยงสุดท้าย แรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศที่หายไปจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นอีกปัจจัยที่จะเข้ามากระทบตลาดต่อไป

“ที่ผ่านมานักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นกลุ่มที่ซื้อสุทธิเวลานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศมีเงินหมุนเวียนในตลาดราว 7 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เกือบ 4 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าปีนี้แรงซื้อจาก LTF จะลดลงราว 50% เพราะไม่ลดหย่อนภาษี และหากมีปัจจัยความไม่แน่นอนเข้ามา ก็อาจกระทบกับนักลงทุนที่ซื้อ LTF มาตั้งแต่ปี 2547-2558 ที่พร้อมขายได้ (ถือครบอายุ) รวมประมาณ 1.8 แสนล้านบาท” นายเทิดศักดิ์กล่าว

ส่วนกรณีสหรัฐกับอิหร่าน “เทิดศักดิ์” ชี้ว่า หากมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จะยิ่งส่งให้เงินย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลให้เงินไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นได้ยากขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่ยังมีปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่าผิดปกติ อาจกระทบฝรั่งให้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

ตลท.หวังสถาบันประคองดัชนี

ด้าน “ศรพล ตุลยะเสถียร” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ในปี 2562 นักลงทุนสถาบันในประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์มีสถานะซื้อสุทธิอยู่ที่ 51,340 ล้านบาท และ 14,914 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนรายย่อยในประเทศขายสุทธิ 21,463 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสูงสุด 44,791 ล้านบาท

“สัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนสถาบันในประเทศ หรือกองทุนต่าง ๆ ปัจจุบันสูงถึง 10.8% และมีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี เพราะเมื่อมีความผันผวนจากต่างประเทศ สถาบันในประเทศจะเป็นกลุ่มที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบน้อยลง” นายศรพลกล่าว


คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ตลาดหุ้นไทยในปีนี้ จะก้าวฝ่าภาวะ “ความไร้เสน่ห์” ไปได้อย่างไร ซึ่งเชื่อว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงพยายามหาทางออกเรื่องนี้อยู่เช่นกัน