ค่าเงินบาทอ่อนในรอบ3เดือน จากแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐ-เงินทุนต่างประเทศไหลออก

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศระหว่างวันที่ 13-17 มกราคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (13/1) ที่ระดับ 30.20/2 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (10/1) ที่ระดับ 30.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรับเคลื่อนไหวอ่อนค่าหลังจากคืนวันศุกร์ (10/1) กระทรวงแรงงานสหรัฐ ได้มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัย โดยรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 145,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 160,000 ตำแหน่ง ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 2.9% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำกว่า 3.0% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.1% ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่อัตราการว่างงานยังคงทรงตัวที่ระดับ 3.5% ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี นอกจากนี้ การจ้างงานนอกภาคเกษตรในปี 2562 คิดเป็นตัวเลขเฉลี่ย 176,000 ตำแหน่งต่อเดือน ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน ลงนามในสัญญาการค้าเฟสที่หนึ่ง โดยสัญญาการค้าเฟส 1 นั้นระบุว่าจีนจะเพิ่มการซื้อสินค้าจากสหรัฐจำนวน 4 หมวดได้แก่ เกษตรกรรม พลังงาน อุตสาหกรรมและบริการ เป็นจำนวนเงินกว่า 2.0 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลาสองปีข้างหน้า และจีนจะดำเนินการกฎหมายลิขสิทธิ์ทางปัญญาอย่างเข้มงวดภายใน 30 วัน ในขณะที่สหรัฐตกลงลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจากเดิมร้อยละ 15 เหลือ 7.5 ในวงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และสหรัฐจะตรึงอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนราว 2 ใน 3 คิดเป็นมูลค่า 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปจนกว่าจะผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม สหรัฐจะพิจารณาปรับลดอัตราภาษีก็ต่อเมื่อสหรัฐและจีนมีการลงนามในสัญญาเฟสต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐหลายตัวที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มในทางบวก ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดค้าปลีกปรับขึ้น 0.3% ในเดือน ธ.ค. โดยปรับขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน อีกทั้งกระทรวงแรงานสหรัฐรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐปรับตัวลง 10,000 ราย สู่ 204,000 ราย ในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ม.ค. โดยปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน และสิ่งนี้บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟียรายงานว่า ดัชนีกิจกรรมภาคการผลิตในภูมิภาคมิดแอตแลนติกของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นจาก 2.4 ในเดือน ธ.ค. สู่ 17.0 ในเดือน ม.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดในรอบ 8 เดือน ส่วนดัชนีแนวโน้มช่วง 6 เดือนข้างหน้าพุ่งขึ้นจาก 34.8 ในเดือน ธ.ค. สู่ 38.4 ในเดือน ม.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561 หรือจุดสูงสุดในรอบกว่า 18 เดือน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ค่าเงินบาทที่แข็งในปี 2562 ที่ผ่านมาเกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นหลัก ไม่ใช่แรงเก็งกำไรต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ธปท.ยอมรับว่ามีความกังวลและติดตามสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น ขณะที่มองว่าทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกับ ธปท.ในการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งการออกมาแถลงของธนาคารแห่งประเทศไทยทำให้ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง ในวันพุธ (15/1) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สสท.) คาดการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 จะขยายตัวไม่ถึง 5% โดยมีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การแข่งขันจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่สูงขึ้น และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก ซึ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ (24-30 ม.ค.) คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยประมาณ 1 ล้านคน ในจำนวนนี้จะเป็นนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 8 แสนคน ใกล้เคียงปีก่อนเช่นกัน อีกทั้งธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2563 จะอยู่ในระดับปานกลาง 2.7% จากปี 2562 ที่ขยายตัว 2.5% โดยมองว่าน่าจะได้รับผลบวกจากความต้องการสินค้าส่งออกดีขึ้นเล็กน้อย การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัว รวมถึงการให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐอย่างจริงจังมากขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในวันศุกร์ (17/1) ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือน แตะระดับ 30.51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐ เข้ามามากประกอบกับมีเงินทุนต่างประเทศไหลออก ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.15-30.51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (17/1) ที่ระดับ 30.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (13/1) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1119/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/1) ที่ระดับ 1.1093/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าภายหลังนาย Yves Mersch หนึ่งในคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ออกมาแสดงความเห็นว่า สภาวะเงินเฟ้อของกลุ่มยูโรโซนในขณะนี้ เริ่มมีสัญยาณในการฟื้นตัวที่ดี หลังจากอีซีบีได้ดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่องในปี 2562 ในระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแม้สหภาพยุโรปเปิดเผยตัวเลขดุลการค้า (Tread Balance) เดือนพฤศจิกายน ที่ 20,700 ล้านยูโร ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามตลาดจับตามองการเจรจาระหว่างผู้แทนการค้าของสหภาพยุโรปและสหรัฐ ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐ ในช่วงสุดสัปดาห์ ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1102-1.1172 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/1) ที่ระดับ 1.1131/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (13/1) เปิดตลาดที่ระดับ 109.60/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/1) ที่ระดับ 109.61/63 ดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงจากแรงเทขายของนักลงทุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากตลาดคลายความกังวลหลังจากสหรัฐกับจีนลงนามสัญญาการค้าเฟส 1 ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 109.4-110.28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (17/1) ที่ระดับ 10.15/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ