คลังถมธนาคารรัฐ 4 หมื่นล้าน เร่งอัดฉีด “ฐานราก-SMEs” กระตุ้นจีดีพี

คลังเติมทุนแบงก์รัฐ 4 หมื่นล้านบาท ก่อนอัดเงินกระตุ้นฐานราก ล่าสุดชง ครม.ด่วน 21 ม.ค. เพิ่มทุน ธ.ก.ส. 2 หมื่นล้านบาท เพื่อสนองนโยบาย “อุ้มฐานราก-ปั้นสมาร์ทฟาร์มเมอร์-ปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้าน” ก่อนหน้านี้ไฟเขียวเพิ่มทุน ธพว.ไปแล้ว 6 พันล้านบาท พร้อมเตรียมเพิ่มทุน “เอ็กซิมแบงก์” อีก 1.5 หมื่นล้านบาท อุ้ม SMEs ส่งออก

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ม.ค.นี้ จะเสนอเพิ่มทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยจะใช้เงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) เพื่อรองรับการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น ช่วยเหลือเกษตรกร พัฒนาการท่องเที่ยว พัฒนาวิสาหกิจชุมชน และสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เป็นต้น

แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส.กล่าวว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) ธ.ก.ส. ที่มี รมว.คลัง เป็นประธาน ได้ประชุมวาระพิเศษ เมื่อ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา อนุมัติเพิ่มทุน ธ.ก.ส.รวม 2 หมื่นล้านบาท ในเวลา 5 ปี โดยในปี 2563 ที่เป็นปีแรก จะใช้เงินราว 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากกองทุน SFIF เพื่อให้สามารถขยายสินเชื่อได้เพิ่มอีก 1-1.2 หมื่นล้านบาท และทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ของธนาคารเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 11.7% เมื่อเพิ่มทุนครบ 2 หมื่นล้านบาท

สืบเนื่องจากธนาคารได้ประเมินภารกิจในระยะข้างหน้าแล้ว ต้องมีการขยายธุรกิจเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก โดยจะต้องขยายสินเชื่อให้เติบโตระดับ 1-1.2 แสนล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันยังอยู่ระดับ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งหากไม่เพิ่มทุนจะกระทบความมั่นคงทางด้านการเงินของธนาคาร

“ธนาคารต้องขยายงานด้านเศรษฐกิจฐานราก ทั้งที่เป็นนโยบายรัฐบาล และแผนงานของธนาคารเองในการช่วยเหลือเกษตรกรและชุมชนด้วย หากไม่เพิ่มทุน ทางแบงก์ได้ประเมินภาวะวิกฤตแล้วว่า จะทำให้บีไอเอสลดต่ำกว่า 8.5% ที่เป็นมาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี เงินเพิ่มทุนในปีแรก จะทำให้บีไอเอสอยู่ที่เกือบ ๆ 8.5% เท่านั้น” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต้องการให้มีการปล่อยกู้กับกองทุนหมู่บ้านฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนในปีนี้

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ช่วงเดือน ต.ค. 2562 คลังก็ได้เสนอ ครม.อนุมัติเพิ่มทุนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ไม่เกิน 6,000 ล้านบาทไป โดยใช้เงินจากกองทุน SFIF เนื่องจาก ธพว.มีแผนงานที่จะปล่อยสินเชื่อ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ไม่น้อยกว่าปีละ 5.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้ไม่น้อยกว่า 1.42 แสนราย ก่อให้เกิดการจ้างงานเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 4.62 แสนคนต่อปี

“เดิม ธพว.ขอเพิ่มทุนถึง 1 หมื่นล้านบาท แต่คลังพิจารณาความจำเป็นแล้ว จึงเสนอ ครม.อนุมัติเพียง 6 พันล้านบาท”

นอกจากนี้ คลังยังอยู่ระหว่างเสนออนุมัติเพิ่มทุนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ อีก 1.5 หมื่นล้านบาทด้วย โดยใช้เงินจากกองทุน SFIF ใน 2 ระยะ ปีละ 7,000-8,000 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารมีเงินทุนเพิ่มเป็น 3.5 หมื่นล้านบาท รองรับการปล่อยสินเชื่อเพื่อดูแลผู้ส่งออก โดยเฉพาะเอสเอ็มอี

“ปัจจุบันกองทุน SFIF มีเงินอยู่กว่า 2 หมื่นล้านบาท สามารถใช้เพิ่มทุนให้แบงก์รัฐตามแผนที่มีการเสนอ ครม.ได้ เพราะเป็นการทยอยใส่เงิน”