ประกันกุมขมับ “บอนด์ยีลด์” ฮวบ หั่น “ค่าคอม” ตัวแทน-ปรับสินค้าอีกระลอก

ประกันชีวิตจ่อหั่นค่าคอมฯตัวแทนอีกรอบ-ลดจ่ายผลประโยชน์ผู้เอาประกัน-เลิกขาย “ซิงเกิลพรีเมี่ยม” หลังบอนด์ยีลด์ไทยดิ่งหนัก “สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย” ชี้ดันหนี้สินประกันชีวิตพุ่ง 10-12%

นายพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ปรับลดลงต่ำเป็นประวัติการณ์ จะกระทบต่อต้นทุนธุรกิจประกันชีวิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะมูลค่าหนี้สินของแบบประกันออมทรัพย์ จะเพิ่มขึ้นกว่า 10-12% จึงคาดว่าทุกบริษัทประกันจะปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายบางส่วน อย่างการปรับลดผลประโยชน์การันตีให้น้อยลง และอาจส่งผลถึงการปรับโครงสร้างค่าคอมมิสชั่นของตัวแทน เนื่องจากไม่สามารถที่จะแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้เพียงฝ่ายเดียว

ทั้งนี้ ประกันชีวิตคงต้องเปลี่ยนไปขายผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นที่ไม่พึ่งพาอัตราดอกเบี้ยมากนัก โดยเป็นสินค้าที่เน้นความคุ้มครอง เช่น ประกันชีวิตหรือสัญญาเพิ่มเติม เป็นต้น และประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) ซึ่งลูกค้าเลือกส่วนผสมการลงทุนได้เอง หากสามารถรับความเสี่ยงได้มาก ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงจากการลงทุนในหุ้น

“หากยังขายแบบออมทรัพย์อยู่ จะไม่ได้การันตีเหมือนเดิม เพราะบริษัทต้องหันไปลงทุนอ้างอิงดัชนีหุ้น หรือลงทุนผ่านสินทรัพย์อื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะสามารถจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยลงทุนผ่านพันธบัตรน้อยลง”

ทั้งนี้ ตอนสิ้นปี 2562 บอนด์ยีลด์ของไทยลดลงมากกว่า 1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี ลดลงราว 1.05% รุ่นอายุ 15 ปี ลดลง 1.37% รุ่นอายุ 20 ปี ลดลง 1.31%

“บอนด์ยีลด์ที่ปรับลงมากกว่า 1% จะเห็นว่าอัตราผลตอบแทน (IRR) ของแบบประกัน ถ้าจะยังขายแบบเดิม ต้นทุนจะต้องลดลงอย่างน้อย 1%”

นางสาวยุวดี เฉลิมศรีภิญโญรัช รองกรรมการผู้จัดการสายงานบริหารการเงิน บมจ.โตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทได้ปรับพอร์ตผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับพอร์ตลงทุน ให้สอดคล้องผลตอบแทนปัจจุบัน หลังบอนด์ยีลด์ปรับตัวลงต่ำมาก ซึ่งค่อนข้างกระทบประกันเกือบทุกประเภท แต่ส่วนใหญ่คือประกันออมทรัพย์และแบบที่มีเงินคืน ซึ่งบริษัทกำลังพิจารณาปรับลด IRR ให้เหมาะสม ปรับค่าคอมมิสชั่นของตัวแทนลงบางส่วน และเลิกขายสินค้าบางตัว เช่น ประกันออมทรัพย์แบบชำระเบี้ยครั้งเดียว (ซิงเกิลพรีเมี่ยม)

“เราไม่ได้ปรับลดค่าคอมมิสชั่นมาก ถ้าเทียบกับบริษัทอื่น ๆ โดยพยายามจะให้กระทบต่อฝ่ายขายน้อยที่สุด”

นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทเจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ กล่าวว่า บริษัทปรับตัวให้ตัวแทนเน้นขายสินค้าความคุ้มครองชีวิต สินค้าตลอดชีพ การประกันสุขภาพโรคร้ายแรง และยูนิตลิงก์มาสักระยะแล้ว จึงกระทบไม่มาก

“ผลกระทบดังกล่าวอาจทำให้ต้องปรับลด IRR และปรับค่าคอมมิสชั่นตัวแทนลงบ้าง แต่เนื่องด้วยวินัยการลงทุนเราค่อนข้างดี สามารถแมตชิ่งสินทรัพย์ลงทุนกับภาระดอกเบี้ยที่ต้องหาให้ได้ตามกรมธรรม์ ทำให้ผลกระทบจากดอกเบี้ยต่ำจากธุรกิจเก่ามีไม่มาก จึงไม่ต้องลดผลประโยชน์มากจนเกินไป”

นายเอกรัตน์ ฐิติมั่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทเตรียมพร้อมรับมือเรื่องนี้ไว้ก่อนแล้ว แต่สินค้าของเอไอเอเป็นแผนระยะยาว ซึ่งส่วนใหญ่จะลงทุนพันธบัตรระยะยาว เพื่อแมตช์กันไว้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น สินค้าแบบเก่า ๆ จึงยังมีบอนด์ที่ให้ผลตอบแทนสูงอยู่ แต่ถ้าจะออกสินค้าใหม่อาจจะการันตีด้วยผลตอบแทนเท่าเดิมไม่ได้แล้ว โดยผลกระทบดังกล่าวอาจมีผลต่อการนำเสนอขายตัวแทนอยู่บ้าง แต่อาจเป็นสัดส่วนน้อย เพราะตัวแทนส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความรู้เกี่ยวกับสินค้าด้านความคุ้มครองชีวิตที่บริษัทพยายามเน้นมาโดยตลอด

“แผนปรับพอร์ตลงทุนของเอไอเอมีการติดตามตลอดเวลาอยู่แล้ว เนื่องด้วยสถานการณ์ความผันผวนในตลาด ทำให้ฝ่ายลงทุนมีการจับตาต่อเนื่อง คาดว่าในอนาคตพอร์ตผลิตภัณฑ์ (product mix) ควรจะต้องเปลี่ยนไป เพราะบริษัทได้ปิดขายสินค้าประกันออมทรัพย์มากขึ้น โดยสิ้นปี 2562 ปิดไปแล้วหลายแบบ สำหรับลูกค้าที่ครบกำหนดได้นำเสนอแบบประกันอื่น ๆ ทดแทน”